คุณเป็นพ่อแม่ประเภทใด
สิ่งแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดูลูกตลอดจนทัศนคติของพ่อแม่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของลูกมาก ฉะนั้น การที่เด็กจะเติบโตขึ้นมีบุคลิกภาพเช่นใดนั้น นอกจากพันธุกรรมแล้ว การอบรมเลี้ยงดูเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาก ถ้าเด็กถูกเลี้ยงดูมาอย่างถูกต้องเหมาะสมก็จะทำให้เขามีบุคลิกภาพที่ดีมีการปรับตัวต่อปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม มีอารมณ์ที่มั่นคง แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเด็กถูกเลี้ยงดูอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมก็จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อการปรับตัวและเป็นผลทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตได้ง่าย
การที่พ่อแม่จะอบรมเลี้ยงดูลูกอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพอารมณ์ของพ่อแม่ ความสัมพันธ์ในชีวิตสมรสของพ่อแม่ ลักษณะเฉพาะของลูก เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตครอบครัวนั้นๆประสบการณ์ที่พ่อแม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาและจากการเลี้ยงดูลูกคนแรกด้วยปัจจัย ดังกล่าวจะเห็นว่าเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ เนื่องจากสาเหตุดังกล่าว
ฉะนั้น วิธีการอบรมเลี้ยงดูลูกที่ไม่ถูกต้องของพ่อแม่ เป็นปัจจัยอันหนึ่งที่ทำให้เด็ก มีพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสมดังนั้น ท่านที่คิดว่าตัวท่านเองเป็นพ่อแม่ประเภทใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ ก็อย่างเพิ่งตกใจหรือกังวลใจ เรามาลองดูกันหน่อยดีไหมค่ะ
- ประเภทรักมากและปกป้องมากเกินไป คือการให้ความรักแก่ลูกมากมาย ทะนุถนอมมากเกินไป ปฏิบัติดูแลลูกเหมือนเป็นเด็กเล็ก ๆ ทั้ง ๆ ที่ลูกก็โตแล้ว พ่อแม่ก็ยังประคบประหงมเหมือนไข่ในหินไม่ยอมให้ห่างสายตา ไม่ยอมให้ทำอะไรเลยเพราะกลัวจะเป็นอันตราย ลูกไม่ต้องคิดหรือตัดสินใจทำอะไรเลย พ่อแม่จะเป็นคนจัดการให้หมด การเลี้ยงดูลูกแบบนี้ ทำให้ทักษะในการช่วยเหลือตัวเองช้า การที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจในตัวเองมีน้อยมาก เพราะไม่เคยตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองเลย ทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนเด็กคือเลี้ยงเท่าไรก็ไม่รู้จักโต
- ประเภทที่ไม่ต้องการลูก พ่อแม่ที่มีทัศนคติแบบนี้ก็จะไม่รักลูกและพาลเกลียดลูก ซึ่งอาจเนื่องมาจากการมีลูกทำให้พ่อแม่ต้องลำบากยิ่งขึ้นอีก หรือขณะแม่ตั้งครรภ์มีอาการไม่สบายมากทำงานไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่าลูกคนนี้นำความทุกข์มาให้ โดยอาจจะเกิดตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์หรือเกิดภายหลังคลอดลูกแล้วก็ได้ พ่อแม่ก็ซักทอดว่าเป็นเพราะลูกคนนี้ทำให้ครอบครัวต้องลำบาก นอกจากนี้พ่อหรือแม่อาจจะเกลียดลูก ซึ่งตนโทษว่าเป็นเหตุให้แม่หรือพ่อบังเอิญมาตายระหว่างตั้งครรภ์หรือการคลอด ลูกคนนั้นพ่อแม่ที่มีความรู้สึกเช่นนี้ก็จะปฏิบัติต่อลูกด้วยความรุนแรงทั้งวาจา พฤติกรรม และสีหน้า และไม่สนใจลูก ทำให้ลูกพัฒนาไปเป็นเด็กที่กระด้าง ก้าวร้าว ชอบทะเลาะวิวาท หงุดหงิด และมีลักษณะต่อต้านสังคม อาจจะเกิดปัญหาสุขภาพจิต ติดยาเสพติด ติดเหล้า ติดการพนัน ลักขโมย เป็นต้น
- ประเภทตามใจมากจนไม่มีขอบเขต พ่อแม่มักจะตามใจลูกทุกอย่าง โดยเฉพาะทางวัตถุ ลูกจะได้ทุกอย่างตามที่เขาต้องการเท่าที่ฐานะทางเศรษฐกิจของพ่อแม่จะอำนวย และไม่รู้จักอบรมลูกว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก อะไรควรอะไรไม่ควรปฏิบัติ ปล่อยให้ลูกทำตามใจตัวเองตามความพอใจ ผลเสียก็คือ เมื่อลูกออกสู่สังคมนอกบ้าน ก็จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ยาก ทำให้เกิดปัญหาในการปรับตัว เอาแต่ใจตัวเองและขาดความอดทน มีสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นที่ไม่ราบรื่น อันจะเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย
- ประเภทวิตกกังวลหวาดกลัวมากเกินกว่าเหตุ พ่อแม่มักจะตีตนไปก่อนไข้ แสดงความวิตกกังวล ในตัวลูกมากเกินกว่าเหตุ เช่นกลัวว่าลูกจะได้รับอุบัติเหตุ ลูกจะถูกหลอกไป ไม่ค่อยยอม ให้ออกไปเที่ยวข้างนอกกลัวโดนแดดหรือกร่ำฝนจะไม่สบาย เวลาลูกไม่สบายเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็แสดงความวิตกกังวลมาก ย้ำถามย้ำปฏิบัติต่อลูก จนทำให้เด็กพลอยวิตกกังวลไปด้วย การเลี้ยงลูกแบบนี้จะทำให้ลูกเติบโตเป็นเด็กที่มีแต่ความวิตกกังวล หวาดกลัวห่วงใยในเหตุการณ์ต่าง ๆ จนไม่มีความสุขและขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง
- ประเภทเจ้าระเบียบจัด พ่อแม่แบบนี้จะเป็นคนระเบียบจัดต้องการให้ทุกอย่าง เรียบร้อยเป็นระเบียบถูกต้องทุกอย่าง ไม่รู้จักผ่อนปรนให้ ต้องคอยชี้แจงซ้ำซากตลอดเวลา ถ้าลูกทำไม่ได้ดั่งใจก็จะโกรธและตำหนิรุนแรงและคอยจุกจิกจู้จี้กับลูก แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ การเลี้ยงลูกแบบนี้จะทำให้เด็กพัฒนาไปเป็นเด็กที่เต็มไปด้วยความผิดหวัง และมีปมด้อย เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดี ไม่มีความสามารถเพราะทำอะไรไม่เคยถูกใจพ่อแม่เลย
จะเห็นว่าการเลี้ยงลูกประเภทดังกล่าวทั้ง 5 แบบนี้ ทำให้การพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กเป็นไปในทางที่ไม่เหมาะสม ฉะนั้น พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการอบรมเลี้ยงดูลูกที่จะทำให้เกิดผลเสียดังกล่าว แต่ควรปฏิบัติเลี้ยงดูลูกโดยทางสายกลางเป็นสิ่งที่ดีที่สุดคือ ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป ควรอบรมเลี้ยงดูลูกให้เหมาะสมกับความสามารถและวัยของเด็ก ไม่ควรใช้อารมณ์ แต่ควรอบรมสั่งสอนลูกอย่างมีเหตุผล มีวินัยที่ดีแต่ต้องไม่เข้มงวดจนเกินไป และไม่ควรตามใจเด็กจนเกินไป หรือปล่อยปละละเลยจนเกินไป ควรให้ความรักอย่างเหมาะสมและมีเหตุผล ไม่ใช่รักมากอย่างไม่มีขอบเขต ตลอดจนพ่อแม่ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กได้เลียนแบบ
ความผาสุกในชีวิตแต่งงานของพ่อแม่ การปฏิบัติต่อกันของพ่อแม่ด้วยความรัก ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกันจะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น มั่นคงอันจะเป็นรากฐานของการที่เด็กจะเจริญเติบโตมาด้วยความสุขและความพอใจอันจะมีผลดีทั้งต่อตัวเด็กเอง และสังคมต่อไปในอนาคต
ผู้รวมรวมและเรียบเรียง: อัญชลี จุมพฎจามีกร
ผู้ให้คำปรึกษา: ผู้ช่วยศาสตราจารย์สเปญ อุ่นอนงค์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ramamental
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
|