[close]
choosewithcareclub.com
go to facebook YouTube
HOME ABOUT US HEALTH CARE SHARE YOUR STORY NEWS CONTACT

เรื่องราวดี ๆ อ่านแล้วกินใจ

เรื่องราวดี ๆ อ่านแล้วกินใจ


เรื่องราวดี ๆ อ่านแล้วกินใจ


          ...ผมเคยตีน้องสาวหนึ่งครั้ง ด้วยความรู้สึกว่า เราสาละวนอยู่กับการหุงข้าว ทำกับข้าว หาบน้ำ ล้างจาน เธอจะมีแก่ใจมาช่วยกันสักนิดก็ไม่มี มัวแต่เล่น อีกประเดี๋ยวแม่ก็กลับจากไร่แล้ว แม่หิว ข้าวปลาอาหารหุงเสร็จ ถ้วยชามล้างเสร็จ รอท่าไว้ แม่ก็จะได้กินเลย เธอกลับไม่มีแก่ใจจะห่วงใยและช่วยเหลือเลย จึงเรียกเธอมาต่อว่า เธอเถียงไม่มีเหตุผล ผมจึงคว้าไม้เรียวมาและตีเธอเข้า 1 ที...

          ...น้ำตาเธอร่วงเป็นเผาเต่า เจ็บที่ถูกตีคงไม่เท่าเจ็บที่หัวใจ เธอร้องไห้ปากงุ้มเป็นครุฑ (เป็นเอกลักษณ์ของเธอ 555) แล้วถามผมว่า ตีเธอได้ไง ผมตอบไปว่า ก็ผมเป็นพี่ ทำไมจะตีไม่ได้ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผมได้สูญเสีย "เพื่อนเล่น" ไป 1 คน เราโตมาด้วยกันอย่างเพื่อนเสมอมา แต่เมื่อผมทวงสิทธิว่า ผมเป็นพี่ของเธอ เธอจึงเลือกที่จะเป็น "น้องสาว" ให้รู้แล้วรู้รอดเสียเลย...

          ...พี่ชายก็เคยตีผม แต่ไม่เจ็บทั้งกายและใจ เพราะเราแยกไปโตกับยายมาด้วยกัน หลังพ่อเสียชีวิต แล้วแม่คงจะแบกรับลูก ๆ ทั้ง 10 คนไว้ตามลำพังไม่ไหว "พี่ต้องดูแลน้อง" ยายบอก และ "น้องต้องเคารพพี่" ยายบอกอีกเช่นกัน...

          ...พี่ชายของผมรักษาคำมั่นสัญญานั้นเป็นมั่นเหมาะ เขาดูแลการอาบน้ำอาบท่า ซักผ้าซักผ่อน แม้กระทั่งยามเจ็บไข้ได้ป่วย เขาก็เคยนั่งเฝ้าทั้งคืน เหตุเพราะเขาพาผมไปเล่นน้ำทะเลตอนแดดเปรี้ยง ๆ แล้วขากลับเกิดฝนตกหนัก พวกเราตัวเปียกปอน และผมจับไข้หนาวสั่นในทันใด...

          ...ในความเป็นพี่เป็นน้อง เราเห็นความรักและ "เยื่อใย" ที่เชื่อมร้อยเราเข้าด้วยกัน เป็นมากกว่า "สายสัมพันธ์" ในฐานะผู้เกิดร่วมบิดามารดา แต่มีหน้าที่ตามมา และเป็นหน้าที่ที่ต้อง "ทำด้วยหัวใจ"...

          ...น้องสาวผมไม่ค่อยเก็บหอมรอมริบในตอนเด็ก ๆ ก็ตามประสาเด็กนั่นแหละครับ มีเท่าไรก็ใช้หมด ส่วนมากก็หมดไปกับขนมและของกิน พวกเราไม่เคยซื้อของเล่น มันเป็น "ส่วนเกินในฐานะ" ของครอบครัว แต่ผมพอจะมีนิสัยเก็บเล็กผสมน้อยอยู่บ้าง จึงมีเงินพอที่จะซื้อ "มาม่า" มาต้มกินดับหิวในบ่ายวันหนึ่ง...

          ...เราจนอยู่แล้ว เงินจะเหลือให้เก็บนั้นเป็นเรื่องยากมาก เว้นเสียแต่เราจะ "ทำงานเพิ่ม" เพื่อให้ได้ "ค่าจ้าง" มา ผมมีเงินติดกระเป๋าอยู่ไม่กี่บาทจากการนั้น...

          ...หิวเหลือเกิน ข้าวหมด รอหุงอีกทีตอนเย็น ต้มมาม่าละกัน จึงควานหาเงินที่เก็บออมไว้ พอซื้อมาม่าได้ 1 ซอง หลังจากเดินไปซื้อมาม่าแล้ว ก็มาหาเก็บผักบุ้งใส่ เพื่อเพิ่มความอิ่มให้มีมากขึ้น...

          ...ขณะต้มมาม่าด้วยหม้อใบเล็ก มีมาม่าอยู่หน่อยเดียว แต่อัดผักบุ้งลงไปเต็มที่ น้องสาวมายืนดู ตาปรอย น้ำตาหยดย้อยขอกินบ้าง ผมบ่นกระปอดกระแปดว่า ตอนมีเงินไม่รู้จักเก็บไว้บ้าง พอหิวก็เลยไม่มีอะไรกินไงล่ะ ยิ่งบ่นเธอก็ยิ่งร้องไห้ สุดท้ายก็ใจอ่อน ให้เธอหยิบชามมา แล้วตักแบ่งให้เธอกินด้วย...

          ...ตาที่เคยท่วมนองไปด้วยน้ำตา และส่อว่าจะสิ้นหวังแล้วพลันเปลี่ยนไป  มันเป็นประกายด้วยความดีใจ และเราเห็น "ความซึ้งใจ" แวบอยู่ในนั้นด้วย...

          ...ตอนเด็กกว่านั้น (ผมอยู่ราว ๆ ป.4) แม่ซึ่งนำพริกแห้ง หอมกระเทียม ฯลฯ ไปขายที่ภาคใต้ ไปทีก็หลายวัน ก่อนไปก็จะทิ้งเงินไว้ กำชับพี่ชายให้ดูแลยายกับน้อง ๆ ให้ดี ถึงวันนั้นวันนี้ แม่จะกลับมา...

          ...ปรากฏว่า ถึงกำหนดแล้ว แม่ก็ยังไม่กลับ เงินหมด ไม่มีใครมีเลย...

          ...พี่ชายตัดสินใจชวนน้องชายคนต่อจากเขา และผม (3 พี่น้อง อายุเรียงกัน) เข้าไปในสวนมะพร้าวแถว ๆ บ้าน ซึ่งค่อนข้างรก และยุงชุมมาก เพื่อจะหามะพร้าวที่หล่น ๆ ตามโคนต้น ผ่า และแคะเนื้อมะพร้าวใส่ถุงมาขายให้แม่ค้าที่ตลาด...

          ...เขาสองคนหามะพร้าวหล่น ๆ ไปด้วย ห่วงผมไปด้วย (ผมเป็นคนป่วยง่าย) เดี๋ยวเทียวเช็ดเหงื่อ เดี๋ยวเทียวไล่ยุงให้ ถามว่ากินน้ำมะพร้าวไหม กินจาวมะพร้าวไหม...

          ...ในวินาทีที่เราไม่รู้มาแม่จะกลับมาหาเราไหม ใจของผม "อุ่น" ได้ ด้วยความรักจากพวกเขา วันนั้นเป็นวันที่ผมไม่กระจองอแง ไม่เหนื่อย ไม่ทำตัวเป็นภาระ เพราะรู้ว่าทุกข์ที่พี่แบกอยู่นั้น หนักหนาสาหัสขนาดไหน...

          ...เรากลับบ้านพร้อมเนื้อมะพร้าวจำนวนไม่มาก เพราะมันเป็นสวนของคนอื่นเขา เราขอแค่มะพร้าวหล่น ๆ มาประทังชีวิต...

          ...มีจาวมะพร้าวมาฝากยาย รวมทั้งฝรั่งสุก ๆ จากต้นที่เราไปเจอ...

          ...เงินค่าเนื้อมะพร้าว ซื้อกุ้งที่ตลาดได้ 7 ตัว พี่ชายกับยายช่วยกัน "แกงส้มมะละกอ" ได้หม้อใหญ่ เรากินด้วยกันอย่างเอร็ดอร่อย...

          ...คืนนั้นแม่กลับถึงบ้านตอนดึก ผมซึ่งหลับอยู่ ได้ยินเสียงแม่สะอึกสะอื้นร้องไห้ แม่เล่าให้ยายฟังว่า รถโดยสารประจำทางที่จะกลับมาถูกโจรดักปล้น มันเอาเงินที่ขายของได้ไปหมดเลย แม่ต้องอยู่เพื่อให้ปากคำกับตำรวจ และรอจะได้เดินทางกลับ มีเงินที่เขาให้ติดตัวมาแค่ร้อยสองร้อย  เมื่อยายเล่าว่า พี่ชายผมออกไปหามะพร้าวมาเพื่อขาย ซื้อกับข้าว แม่ยิ่งร้องไห้เหมือนใจจะขาด...

          ...นับจากวันนั้นมา แม่รู้ว่า หากไม่มีแม่ แม่ก็มีลูกชายคนหนึ่งที่จะ "สู้เพื่อน้อง ๆ" ของเขาได้  แม่กอดพี่ชายผม น้ำตาไหล แล้วบอกว่า "แม่ขอโทษและขอบคุณมากนะลูก" ...

          ...คำว่า "ครอบครัว" ไม่ใช่แค่การเกิดมาด้วยพ่อแม่เดียวกัน อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน และโตมาด้วยกันเท่านั้น  แต่มันหมายถึงเราผ่านคืนวันที่ทุกข์ที่สุดและสุขที่สุดมาด้วยกัน  โดยไม่มีใครมานั่งชั่ง ตวง วัด ว่าใครสุขกว่าใคร หรือใครเหนื่อยกว่าใคร  แต่ใจทุกใจ พันและผูกอยู่ด้วยกัน  ไม่ว่ามันคือวันแห่งสุขหรือวันแห่งทุกข์...

          ...เดี๋ยวนี้น้องสาวเป็นคนดูแลแม่ เธอเรียกแม่ด้วยนามแฝงในเฟสบุ๊คว่า "สุดที่รักและรักที่สุด" ก่อนผมซื้อรถกระบะให้เธอ ตามที่เธอขอ ผมบอกกับเธอว่า "เธอต้องคิดให้ดีนะ ทันทีที่เธอมีรถ ด้วยเหตุผลที่เธอห่วงแม่ ว่ามักเจ็บไข้ในตอนดึก ๆ กว่าจะโทรเรียกพี่ชายจากอีกหมู่บ้านหนึ่ง หรือไหว้วานเพื่อนบ้านให้ขับรถพาแม่ไปโรงพยาบาลนั้น มันนาน กลัวแม่จะเป็นอันตราย  เธอต้องรู้นะว่า มันอาจจะไม่ง่ายอีกต่อไปที่เเธอจะเรียกคนอื่น  ทุกคนจะสบายใจว่า แม่จะอยู่ในความดูแลของเธอ และนั่นจะเป็นภาระที่ตกแก่เธอ รู้ใช่ไหม" ...

          ...เธอบอกว่ารู้ และพร้อม ผมจึงไม่มีรอเลยที่จะส่งเงินให้เธอ และรับหน้าที่ผ่อนรถคันนั้น (ยังผ่อนอยู่)...

          ...เธอส่งข่าวให้รู้ทุกครั้ง ว่าคืนไหนแม่ต้องไปโรงพยาบาล แม่เป็นความดันโลหิตสูง และชอบสูงตอนตีสอง จนบัดนี้เธอไม่เคยบ่นเลย ว่านั่นคือ "ภาระ" ---มีแต่ทำด้วยความรัก...

          ...ส่วนพี่ชายคนนั้น จากพวกเราไปหลายปีแล้ว เขาเป็นมะเร็ง ครั้งท้าย ๆ ที่ผมไปเยี่ยมเขา  เขากินอาหารไม่ได้มาหลายวันแล้ว ดูเหนื่อยอ่อน แต่ดวงตานั้นเต็มไปด้วยความกังวล...

          ...ลับหลังพี่ แม่โผเข้ากอดผม ร้องไห้ และพูดกับผมว่า "แม่ดูแล้ว พี่เขาไม่ไหวแล้วล่ะลูก"...

          ...คืนนั้นผมป้อนนมกล่องให้พี่ จับมือและบีบนวดตัวให้เขา ถามเขาว่า "ไหวมั้ย"...

          ...เขานิ่ง ผมจึงบอกเขาว่า "ไหวหรือไม่ไหวก็บอกมา เราเป็นพี่น้องกัน พี่เจ็บ พวกเราก็เจ็บ ไม่ไหวก็อย่าฝืน แต่ถ้าไหวก็สู้ต่อไปด้วยกัน อยากให้พี่อยู่ด้วยกัน แต่ก็จะไม่บอกพี่ว่า พี่ต้องไหว เพราะคนที่เจ็บกว่าใคร คือตัวพี่เอง"...

          ...น้ำตาของเขาเริ่มไหล...

          "อยากให้พี่อยู่นะ แต่เราเจ็บแทนพี่ไม่ได้ ถ้ามันไม่ไหวพี่ก็อย่าห่วงอะไรอีกเลย"...

          ...เขาบอกว่า "ไม่ไหวแล้ว"

          ผมจึงถามว่า "เป็นห่วงเรื่องอะไร"

          เขาบอก "ห่วงน้องสาวอีกคน (คนเล็กสุด) ยังเรียนไม่จบเลย อยากเห็นน้องรับปริญญา (น้องคนนี้ เขาเลี้ยงมาเหมือนลูก) ห่วงแม่ ยังตอบแทนพระคุณแม่ไม่พอเลย"...

          ...ผมสะอื้นไม่เกรงใจเขา และบอกว่า "ฟังนะ ในบรรดาลุกทุกคน พี่ทำให้แม่มากกว่าใครทั้งหมด ดังนั้น ถ้าห่วง 2 เรื่องนี้ ก็เลิกห่วงได้ น้อง เราทุกคนก็รัก และต้องดูแลเขาไม่ให้ลำบากแน่นอน  ส่วนแม่ เราจะดูต่อให้ แต่ก็พูดกันเสียให้ชัด ว่าเรากับเธอ นิสัยไม่เหมือนกัน การดูแล ก็คงไม่เหมือนที่เธอทำ แต่แม่จะไม่ลำบาก เธอเชื่อเรามั้ย"...

          ...เขาพยักหน้า ผมจึงบอกว่า "ทำใจให้ปลอดโปร่งที่สุดนะ แล้วตัดสินใจว่า ไหวมั้ย ถ้าไหว ก็อยากให้อยู่ด้วยกัน ถ้าไม่ไหว ก็อย่าฝืนแบบนี้ มันเจ็บ..."...

          ...น้ำตาของเราทั้งสองนองหน้า แต่พยายามข่มไว้ เพื่อไม่ให้กระทบจิตใจของแม่ที่หลับอยู่ในห้องคนไข้ด้วยกัน...

          ..."ไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ เธอต้องมีความสุข เราสัญญาทุกอย่างที่พูดกับเธอ เราไม่มีวันลืมสัญญานี้" เขาพยักหน้า สักพักเดียวเขาก็หลับไป หลังจากนอนไม่หลับมาสองสามวันแล้ว...

          ...หลังจากนั้นสองสามวันเช่นกัน เขามีนัดตรวจกับหมอที่ศิริราช ผมปิดต้นฉบับที่นิตยสาร LIPS เสร็จตอนเย็น ก็รีบซ้อนมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปท่าพระจันทร์ แล้วข้ามเรือไป เมื่อไปถึงเตียงคนไข้ เห็นญาติพี่น้องของเรายืนอยู่รอบเตียง...

          ..."สมองคนไข้ไม่ทำงานแล้ว ที่ยังหายใจอยู่นี้เพราะเครื่อง หากเขาหยุดหายใจ จะให้ปั๊มกลับมาไหม" หมอถาม...

          ...แม่มองตาเราทุกคนรอบเตียง นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วบอกว่า "ปล่อยเขาไปเถอะ อย่าให้เขาเจ็บปวดอีกเลย"...

          ...ผม...ซึ่งมาเป็นคนสุดท้ายจึงหันไปกุมมือเขา แล้วกระซิบข้างหูเขาว่า "มาแล้วนะ ไม่ต้องห่วงอะไรนะ" เท่านั้นเอง เส้นกราฟหัวใจของเขาก็หยุดสนิท...

          ...เล่าเรื่องเหล่านี้ให้คุณฟังเพื่อจะบอกว่า บ้าน ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย พี่น้อง ไม่ใช่แค่คนคลานตามกันมา ครอบครัวจึงมีความหมายที่ลึกซึ้งว่า ในวันที่ทุกข์ที่สุดและสุขที่สุด เราจะร่วมอยู่ในวันคืนเหล่านั้นด้วยกัน ไม่มีวันปล่อยมือจากกัน...

          ...จงค่อย ๆ หล่อหลอมลูก ๆ ของคุณให้รู้จักความเป็นพี่ความเป็นน้อง และความเป็นครอบครัวเถิด เพราะถึงวันหนึ่ง คุณก็ต้องปล่อยมือจากไป โดยที่คุณจะแสนแน่ใจว่า พวกเขาจะเกาะกุมมือกัน เดินต่อไปในโลกใบนี้ ด้วยคำว่า เราคือ "ครอบครัว" โดยไม่ปล่อยมือจากกันด้วยความเห็นแก่ตัว


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก Line: Club คนรักสุขภาพ


Home >>
Flemex-AC OD

Recent Post
รวมวิธีรักษาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

รู้จัก 5 รูปแบบการไอ เพื่อบรรเทาอาการอย่างถูกจุด

“สารสกัดจากดอกคาโมมายล์” หนึ่งในส่วนผสมที่ควรมองหาใน เม้าท์ สเปรย์

ไม่ใช่แค่ละลายเสมหะ..NAC กับการใช้รักษาอาการหรือโรคอื่น

เจาะลึกถึงสาเหตุที่นำไปสู่อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

3 ยาที่ต้องมีติดบ้านเพื่อรับมือ “ไข้หวัดแดด”

“เฟลมโมมายล์ เม้าท์ สเปรย์” (Flemomile Mouth Spray) สเปรย์สำหรับช่องปาก สูตรปราศจากน้ำตาลและแอลกอฮอล์

"กาวชันผึ้ง" (Propolis) สารมหัศจรรย์จากธรรมชาติช่วยแอนตี้ไวรัส

สุขใจปีใหม่ ดูแลกันให้นาน ๆ

9 วิธีปรับปรุงชีวิตคู่ให้ดีขึ้น

คาโมมายล์ สมุนไพรที่ช่วยให้ผ่อนคลายและบำรุงสุขภาพ

สุขภาพดี ท้าหนาว

RSV ไวรัสตัวร้าย ปล่อยไว้อันตรายถึงแก่ชีวิต

เฟลมโมมายล์ เม้าท์ สเปรย์ เอาใจคนรุ่นใหม่ ใส่ใจสุขภาพ

คัดจมูกอย่าปล่อยไว้นาน

ชิว ๆ เตรียมตัวรับความหนาวที่มาพร้อมกับความสุขใจ

ภูมิแพ้… ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

Review: FLEMOMILE เม้าท์ สเปรย์ ตัวช่วยในวันที่เจ็บคอ (ไม่พูดเยอะ)

หนาวแล้ว ปลายฝน รับต้นหนาว

สุขใจ อิ่มบุญ ในช่วงกินเจ

ชีวิตคิดบวก สู้โควิด

เที่ยวแบบ New Normal เทรนด์ใหม่ยุคโควิด-19

ไอจนเจ็บหน้าอก

“สุขดี” ที่ใจและกาย

ปรับไลฟ์สไตล์ชีวิตใหม่ รับ New Normal หลังวิกฤตโควิด-19

New normal ในโลกหลัง COVID-19 ที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม

อันตรายจาก “ความชื้น”


ประโยชน์ของสารสกัดจากดอกคาโมมายล์และโพรพอลิส


เทรนด์ธุรกิจแบบ Health Focus ที่มาแรงในวันนี้



« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
Neurotex

Aquamaris




เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อนำเสนอคอนเทนต์และโฆษณาที่ท่านอาจสนใจเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเรา
หากท่านใช้บริการเว็บไซต์ของเราต่อไปโดยไม่ได้ปรับการตั้งค่าใดๆ เราเข้าใจว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์ของเรา
HOMEABOUT USSHARE YOUR STORYNEWSCONTACT
 
  
view