ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นไข้หวัด
ข้อน่ารู้เกี่ยวกับไข้หวัด
- ไข้หวัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น (ได้แก่ จมูกและคอ) ติดต่อกันได้ง่ายด้วยการอยู่ใกล้ชิดกัน รับเชื้อจากละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ จามหรือหายใจรด
- เชื้อโรคที่ทำให้เป็นไข้หวัด (เรียกว่า เชื้อหวัด) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เมื่อเป็นแล้วจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัด เฉพาะชนิดนั้นเพียงชนิดเดียว เมื่อติดเชื้อหวัดอีกชนิดหนึ่ง วนเวียนไปเรื่อย ๆ ดังนั้น คนเราจึงเป็นไข้หวัดได้บ่อย
- เด็กเล็กจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดน้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงมีโอกาสเป็นไข้หวัดได้บ่อย และมักจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนใน 1 - 2 ปีแรก จะรับเชื้อหวัดจากเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน ทำให้เป็นหวัดบ่อย (6 - 8 ครั้ง / ปี) ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ฆ่าเชื้อกลุ่มนี้อย่างได้ผล
- การรักษาไข้หวัดและกลุ่มโรคที่เกิดจากไวรัส จึงอยู่ที่การพักผ่อน กินอาหารที่มีประโยชน์ (ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค) และให้ยารักษาไปตามอาการเท่านั้น
- อาการของไข้หวัด ได้แก่ ตัวร้อน (ไข้) เป็นหวัด (คัดจมูกน้ำมูกไหล) และไอ อาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย ส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรงจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อ การดูแลเมื่อเป็นไข้หวัด
- พักผ่อนให้มากขึ้น
- ใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น ไม่ควรเปิดแอร์ให้เย็นเกินไปไม่เปิดพัดลมเป่าให้ตรงตัวเด็ก
- ไม่ควรอาบน้ำเย็น
- ควรดื่มน้ำมาก ๆ (อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำส้มคั้น น้ำผลไม้ ก็ได้) เพื่อให้เสมหะละลาย เหลวพอ ที่จะช่วยร่างกายให้ไอออกมาทิ้งง่าย ๆ
- ถ้าเบื่ออาหารให้กินน้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำข้าวต้ม ทีละน้อย แต่บ่อย ๆ
- ถ้ามีไข้ กินยาลดไข้ ครั้งละ 1 - 2 เม็ด (เด็กใช้พาราเซตามอล ชนิดน้ำเชื่อมครั้งละ ครึ่ง - 2 ช้อนชาตามอายุ) ถ้ายังมีไข้ให้กินซ้ำได้ทุก ๆ 4 - 6 ชั่วโมง ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ ถ้ายังมีไข้สูงติดต่อกันมากกว่า 4 - 7 วันควรพาไปพบแพทย์
- เมื่อได้รับการดูแลรักษาอย่างเต็มที่ อาการตัวร้อนควรจะหายเป็นปกติ ภายใน 3 - 4 วัน (อย่างมากไม่เกิน 7 วัน) แต่อาจมีน้ำมูกหรือไอต่อไปอีก 1 - 2 สัปดาห์ (บางคนอาจไอโครกเป็นเดือน) ถ้าอาการทั่ว ๆ ไปเป็นปกติดี กินได้น้ำหนักไม่ลด ก็ไม่ต้องตกใจ จะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง ถ้ายังมีไข้สูงติดต่อกันมากกว่า 4 - 7 วันควรพาไปพบแพทย์
- ยาปฏิชีวนะ ไม่มีความจำเป็นในการรักษาไข้หวัดแต่อย่างไร เพราะไม่ได้กำจัดเชื้อหวัด (และไวรัสทุกชนิด) แต่อย่างไรก็ตาม ยานี้จะมีประโยชน์ต่อเมื่อมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปแทรกซ้อนภายหลัง ซึ่งจะสังเกตได้จากน้ำมูกหรือเสมหะที่เคยใสจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว
- สังเกตอาการ ถ้าไอมาก หายใจผิดปกติเช่น หายใจเร็ว หรือหอบ หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง หรืออาการซึม ไม่ดูดนม อาจเป็นโรคปอดบวม ควรพาไปพบแพทย์
- ถ้ามีอาการเจ็บคอมาก / ปวดในหู หูอื้อ หรือหูน้ำหนวกไหล / ผื่นขึ้นตามตัวไข้สูงตลอด กินยาลดไข้ไม่ได้ผลควรพาไปพบแพทย์
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก www.theptarin.com
|