ไอแบบนี้ป่วยเป็นอะไร 7 อาการไอที่มีนัยของโรคต่างกัน อาการไอ 7 ชนิดมีความหมายที่บอกได้ว่าคุณกำลังป่วยเป็นโรคอะไร อาการไอแบบไหนเสี่ยงมากและควรระวังเป็นพิเศษ ไอเพราะเป็นหวัด ไอเพราะเป็นโรคภูมิแพ้ หรือแค่ไอเลิฟยู อาการไอของเรานี่ไม่ธรรมดานะคะ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้ถึงความแตกต่างตั้งแต่ลักษณะการไอไปจนถึงความรุนแรงเลยล่ะ ซึ่งเพื่อความกระจ่างชัดของอาการไอในแต่ละแบบ วันนี้กระปุกดอทคอมเลยหยิบเอาข้อมูลเรื่องไอค่อกแค่กจาก Health มาฝากให้รู้แล้วรู้รอดกันไป จะได้บรรเทาอาการไอและรู้เท่าทันโรคที่อาจจะมาเยือน ไอแห้ง ๆ แบบคันคอ
ลักษณะไอแห้ง ๆ หรือไอแบบมีเสมหะ ด้วยสาเหตุจากมีสิ่งแปลกปลอม เช่น ไรฝุ่นหรือเชื้อไวรัสจากหวัดลงคอ ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองจนกระตุ้นให้ร่างกายแสดงอาการออกมาผ่านอาการไอ โดยเฉพาะหากอาการไอของคุณจะรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน ไอในลักษณะเหมือนมีอะไรบางอย่างข้นเหนียวติดอยู่ที่ลำคอ รวมทั้งมีอาการคันยุบยิบที่ตาและจามเป็นระยะ ฟันธงได้เลยว่า นี่คืออาการไอที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ชัวร์ !
หากมีลักษณะอาการข้างต้น ขั้นแรกให้ลองทานยาแก้แพ้บรรเทาอาการไปก่อน ทว่า หากอาการไอยังเป็นต่อเนื่องไม่หาย อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการอีกที แต่หากคุณมีอาการไอร่วมกับเสมหะธรรมดา การทานยาแก้ไอ และพยายามหลีกเลี่ยงน้ำเย็นอาจช่วยได้ นอกเสียจากว่าอาการไออยู่กับคุณเกิน 1 สัปดาห์ รักษาด้วยวิธีไหนก็ไม่บรรเทา ต้องรีบไปตรวจเช็กกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที เนื่องจากคุณอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคไซนัสอักเสบก็ได้
ไอติด ๆ กัน
ไอแห้ง ๆ ติดกันเป็นจังหวะรัวเร็ว พร้อมอาการหายใจไม่ค่อยสะดวก เดาได้ว่าคุณมีสัญญาณของโรคหอบหืดจ่อคอหอยอยู่ เนื่องจากอาการไอพร้อมกับอาการหายใจติดขัดอาจเป็นเพราะระบบทางเดินหายใจของคุณเกิดอาการอักเสบหรือติดเชื้อ ทว่า หากต้องการชี้อาการให้ชัดเจนที่สุด แนะนำให้สังเกตช่วงเวลากลางคืน ถ้าตกดึกแล้วไอถี่ขึ้นในลักษณะที่ไอพร้อมหอบและเจ็บหน้าอกทุกครั้งไอ ยิ่งตอนออกแรงมาก ๆ ก็ยิ่งไอและหอบ พร้อมกับรู้สึกเหนื่อยล้ามากเป็นพิเศษ เชื่อเถอะว่าร่างกายของคุณอยู่ใกล้โรคหืดหอบมากขึ้นทุกทีแล้ว
โรคหอบหืดรักษาได้โดยใช้ยาขยายหลอดลมมาบรรเทาอาการในเบื้องต้น และยาระงับอาการอักเสบใช้บรรเทาสาเหตุของอาการไอ นอกจากนี้ยังอาจมียาในกลุ่มที่ช่วยระงับการหลั่งสาร leukotriene ตัวการที่ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและชักนำเซลล์อักเสบมารวมตัวกันอยู่ในหลอดลมร่วมด้วย ไอหนัก ๆ เป็นช่วงสั้น ๆ
ไอรุนแรงเป็นพัก ๆ โดยเฉพาะเวลารับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ หรือไอทุกครั้งที่ล้มตัวลงนอน นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกทางอ้อมว่าคุณกำลังเป็นโรคกรดไหลย้อน และอาการไอก็มีสาเหตุมาจากกรดในกระเพาะอาหารพากันตีขึ้นมาทางหลอดอาหาร ส่งผลให้รู้สึกระคายคอแล้วจึงแปรสภาพเป็นอาการไอหนัก ๆ เพียงแค่ 2 - 3 วินาที หรือบางรายอาจมีอาการแสบร้อนกลางอกและเสียงแหบทุกครั้งเมื่ออาการไอจบสิ้น
เมื่อสงสัยว่าคุณเข้าข่ายอาการป่วยแบบนี้ ทางเดียวที่จะรู้ได้ก็ต้องเอกซเรย์ลำไส้ และรักษาด้วยยาลดกรดในกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton pump inhibitors) ที่ช่วยป้องกันอาการกรดไหลย้อน พร้อมกับเสริมด้วยตัวยากลุ่มที่ช่วยเคลื่อนไหวทางเดินอาหารอย่างเมโทโคลพราไมด์ (metoclo-pramide) ร่วมด้วย
ไอเรื้อรัง
มีอาการไอเรื้อรังแถมมีเสมหะปนมาด้วย การไอลักษณะนี้จะเกิดขึ้นถี่ในช่วงเช้า โดยอาจรู้สึกแน่นหน้าอกขณะไอ หรือหายใจติดขัดพร้อม ๆ กัน นับว่าเป็นอาการเริ่มต้นของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งน่าจะมีความเสี่ยงของโรคถุงลมโป่งพองและโรคปอดอักเสบแถมมาด้วย ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่นั่นเองนะคะ
หลังจากตรวจเช็กสภาพปอดอย่างละเอียดและพบว่าเข้าข่ายโรคเหล่านี้แล้ว ขั้นตอนแรกแพทย์อาจสั่งยาขยายหลอดลมเพื่อช่วยระบบทางเดินหายใจให้ทำงานได้สะดวกมากขึ้น บรรเทาอาการไอและหายใจติดขัด ทว่า หากอาการรุนแรง คุณอาจได้รับกลุ่มยาที่มีสารสเตียรอยด์มาช่วยบรรเทาการอักเสบของปอด แต่ทั้งนี้ จะดีที่สุดหากหยุดสูบบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด
ไอแห้ง ๆ เบา ๆ
ไอแบบไม่จริงจัง ไอแห้ง ๆ ด้วยเสียงเบา ๆ และจะมีอาการไอหลังกินยาลดความดันกลุ่ม ACE inhibitors เข้าไปก่อนหน้านี้ แสดงว่าคุณมีสาเหตุของอาการไอเป็นผลข้างเคียงจากตัวยา โดยยาลดความดันเหล่านี้จะมีผลกระทบเป็นอาการไอถึง 20%
ปรึกษาแพทย์ให้เปลี่ยนตัวยาเป็นชนิดอื่น ไอแห้งก่อนไอแบบมีเสมหะข้นเหนียว
เริ่มไอแห้งประมาณ 2 - 3 วัน หลังจากนั้นอาการไอจะรุนแรงขึ้น พร้อมกับมีเสมหะข้นเหนียวหลากสี ทั้งสีเขียว เหลือง หรือสีแดงปนมาด้วย บางรายอาจมีไข้อ่อน ๆ หายใจติดขัด และเจ็บคอเวลาไอร่วมด้วย ลักษณะอาการไอแบบนี้บอกได้ทันทีเลยว่าคุณกำลังเป็นโรคปอดบวม
พบแพทย์เพื่อตรวจเช็กการทำงานของปอด รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ไอผสมคันคอ
ไอและมีอาการระคายคอร่วมด้วย โดยมากจะเริ่มไอเบา ๆ มีน้ำมูกไหล คัดจมูกเหมือนอาการของไข้หวัดธรรมดาก่อนแล้วจึงพัฒนาเป็นไอซ้อนติดกันเป็นชุด บางรายอาจไอจนหายใจไม่ทันและเจ็บหน้าอก หรือไอถี่มากจนหน้าเขียวหน้าแดงเลยก็มี
หลังจากเข้ารับการเอกซเรย์ทรวงอก แพทย์อาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและยาขับเสมหะในเบื้องต้น จากนั้นจึงรักษาตามลักษณะอาการของผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป หากคุณมีอาการไออยู่ตอนนี้รีบเช็กเลยนะคะว่าเข้าข่ายไหน จะได้รักษาอาการได้ถูกทาง |
ไอแบบนี้ป่วยเป็นอะไร 7 อาการไอที่มีนัยของโรคต่างกัน |
|
|