ดูยังไงนะ ว่าเราเป็น “ไข้หวัดธรรมดา”
ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนมาสักระยะหนึ่งแล้วนะคะ แน่นอนว่าช่วงนี้ก็ต้องพบกับ อากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวฝน เดี๋ยวอบอ้าว เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน ร่างกายเราก็คง ปรับตัวไม่ทันและเมื่อร่างกายปรับตัวไม่ทัน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราก็อ่อนแอลง อาจส่งผลให้เกิดโรคตามมา ซึ่งโรคที่ฮอตฮิตมากในช่วงฤดูฝน ก็คงหนีไม่พ้น “โรคหวัด”
“โรคหวัด” เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีมากมายหลากหลายชนิด โดยสามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านทางการสัมผัสและการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น ก็คือจมูกและคอ
ทั้งนี้สถานที่ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงอาหาร โรงภาพยนตร์ ที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้าล้วนเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงในการติดโรคหวัดได้สูง โรคนี้เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคทั้งหลาย มักพบได้มากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว และในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ส่วนในช่วงฤดูร้อนจะพบโรคนี้ได้น้อยลง ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่สามารถเป็นโรคนี้กันได้ตลอดทั้งปี ในบางคนก็อาจเป็นโรคหวัด ได้ปีละหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะวัยเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรกๆ จะมีโอกาสเป็นหวัดได้บ่อยกว่า วัยผู้ใหญ่มากค่ะ และเมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดต่างๆ มากขึ้น ก็จะ ทำให้ป่วยเป็นไข้หวัดด้วยระยะเวลาที่ห่างกันมากขึ้นและมีอาการรุนแรงน้อยลง
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ ว่าเราเป็น “ไข้หวัดธรรมดา” ? วิธีการง่ายๆ ก็คือตรวจสอบจากอาการเหล่านี้ค่ะ
ผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นไข้หวัดในช่วงแรกอาจเดินเหิน ทำงานได้ และทานอาหารได้ แต่มักมีไข้ ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัวเป็นพักๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย อ่อนเพลียเล็กน้อย อาจมีอาการแสบคอ เจ็บคอ เสียงแหบนำมาก่อน ต่อมาก็จะมีอาการน้ำมูกไหลใสๆ คัดจมูก ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะบ้าง เล็กน้อย เสมหะนั้นมีลักษณะใส หรือสีขาวๆ ไข้อาจจะสูงขึ้น แต่หากเป็นเด็กเล็ก อาจมีไข้สูงฉับพลัน ตัวร้อนเป็นพักๆ เวลามีไข้ขึ้นหรือตัวร้อนจะซึมๆ ต่อมาจะมีน้ำมูกใส ไอเล็กน้อย แต่เมื่อถึงเวลาไข้ลงหรือตัวเย็นลงแล้ว ก็สามารถวิ่งเล่น หรือมี หน้าตาแจ่มใสเหมือนปกติค่ะ และถ้าเป็นในทารกอาจมีอาการอาเจียน หรือท้องเดินร่วมด้วย
อาการไข้มักจะเป็นอยู่สัก 3-4 วันเต็ม แต่ก็สามารถทุเลาลงได้เองหลังจากนั้น ส่วนอาการ น้ำมูกไหลจะเป็นอยู่ 2-3 วัน และอาการไออาจนานเป็นสัปดาห์ หรือบางรายก็อาจไอเป็นเดือนได้ ในช่วงที่เรามีอาการไข้ กับอาการไอ ก็อย่าลืมหาตัวช่วยในการรักษาอาการเหล่านี้ อย่างยาแก้ไข้ หรือยาแก้ไอด้วยนะคะ อาการ “ไข้หวัดธรรมดา” เราสามารถดูแลรักษาเองได้ โดยอาจนอนพักอยู่ที่บ้านไม่กี่วันก็จะ ทุเลาลงค่ะ แต่ถ้าหากยังไม่หายดีแล้วมีอาการ “ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง” คือ มีน้ำมูกเกิน 7 วัน หรือน้ำมูกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว อาจมีอาการปวดหู หรือหายใจหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ไข้กลับมาสูง ไอมาก มีเสมหะมาก และอาการต่างๆ มีทีท่าว่าจะเลวร้ายลง ส่วนใหญ่แล้วอาการ เหล่านี้จะเกิดได้น้อย ถ้าเกิดก็มักจะเกิดในผู้สูงอายุ ในเด็กทารก ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือผู้ที่มี ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งถ้ามีอาการดังนี้แล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เลยนะคะ
วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีตรวจสอบ ว่าคุณเป็นโรค “ไข้หวัดธรรมดา” หรือไม่ หากพบว่าเป็น ไข้หวัดก็ควรรีบรักษาแต่เนินๆ และเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงก็ควรรีบไปพบแพทย์ แต่ที่สำคัญ ไปกว่านั้น คือการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมร่างกายไว้รับมือ กับเชื้อไวรัส หรือเชื้อโรคต่างๆ ค่ะ นอกจากนี้อย่าลืมใส่ใจดูแลสุขภาพของคนที่คุณรักด้วยนะคะ ว่าพวกเขามีอาการเหล่านี้ หรือไม่ หากมีก็รีบดูแลกัน ให้หายจากโรคไข้หวัดโดยเร็วค่ะ
By ปังปอนด์
|