เรื่องราวประทับใจจากการฝึกความซื่อสัตย์ ให้แก่เด็กญี่ปุ่น
คนทั่วโลกต่างรู้ว่าคนญี่ปุ่นมีความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้งไม่เอาของคนอื่นมาเป็น ของตนเอง สิ่งของที่ถูกลืมไว้ในที่ต่างๆ ในญี่ปุ่นมักจะได้กลับคืนสู้เจ้าของ วันนี้ ผู้เขียนจะมาเล่าประสบการณ์การฝึกความซื่อสัตย์ให้แก่เด็กของคนญี่ปุ่นให้ฟังนะคะ
1. เก็บของได้แล้วนำส่งป้อมตำรวจ ระหว่างที่มีการรวมกลุ่มเด็กๆ อนุบาลเล่นกัน เพื่อนของลูกเก็บเงินมาได้หนึ่งเยนและบอก คุณแม่ว่าจะนำไปส่งป้อมตำรวจ ซึ่งตั้งอยู่ทั่วไปตามชุมชน เพื่อนของผู้เขียนเล่าว่าลูกเจอเงินบ่อย และนำเงินไปส่งมอบให้กับตำรวจ ซึ่งมักจะเขียนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถึงจำนวนเงินที่เด็กนำ ไปส่งมอบให้กับตำรวจ บางครั้งแค่สิบเยน มากหน่อยก็ร้อยเยน เพื่อยืนยันคำพูด เพื่อนของผู้เขียน ได้ยื่นใบบันทึกข้อความจำนวนไม่น้อยให้ดู ซึ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกทึ่งในการเป็นตัวอย่างความซื่อสัตย์ ของคุณแม่และทึ่งในตัวคุณตำรวจที่ใส่ใจกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และทำหน้าที่โดยไม่บ่น
2. นำลูกโป่งคืนเจ้าของ ผู้เขียนพาลูกๆ ไปเล่นสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ในระหว่างที่เด็กๆ เล่นกันก็มีครูฝรั่งจาก โรงเรียนสอนภาษามาแจกลูกโป่งให้เด็กๆ เพื่อประชาสัมพันธ์โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ลูกชาย คนเล็กผู้ชอบลูกโป่งมากๆ ได้ไปยืนเข้าคิวรอรับและนำลูกโป่งมาฝากไว้กับผู้เขียนซึ่งนั่งรอเด็กๆ เล่นกับคุณพ่อ ระหว่างนั้นผู้เขียนนั่งเพลินจนไม่รู้ว่าลูกโป่งลอยไปตั้งแต่ตอนไหน นึกได้อีกที ลูกโป่งลอยหายไปแล้ว ขณะที่กำลังมองหาลูกโป่งอยู่ก็มองเห็นคุณแม่ลูกสองที่มือหนึ่งจูงลูกและ มือหนึ่งถือลูกโป่งสีขาวเหมือนกำลังตามหาเจ้าของ ผู้เขียนรู้สึกดีใจและรับลูกโป่งคืนพร้อมคำ ขอโทษจากคุณแม่จริงๆ แล้วผู้เขียนเองรู้สึกสงสารเด็กน้อยที่อยากได้ลูกโป่ง แต่เมื่อคิดว่าแม้ว่า จะให้ลูกโป่งแก่เด็กน้อยตามนิสัยใจดีของคนไทย คุณแม่ญี่ปุ่นไม่ยอมให้ลูกรับแน่ๆ เพราะเป็นการ เสริมสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้แก่ลูกเขา
3. ฝึกอย่างจริงจังไม่ให้เอาของคนอื่นกลับบ้าน คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความซื่อสัตย์จึงเป็นแบบอย่างที่ดีในการสอนลูกหลานให้มีความ ซื่อสัตย์ บ่อยครั้งที่ของเล่น ถูกลืมทิ้งไว้ในสวนสาธารณะถูกวางทิ้งไว้เป็นเวลานานจนกว่าเจ้าของ นึกได้และกลับมาเอาของ พ่อแม่ญี่ปุ่นค่อนข้างเข้มงวดไม่ยอมให้ลูกเอาของคนอื่นกลับมาบ้าน คนญี่ปุ่นมีวิธีการง่ายๆ ที่ไม่ให้ลูกหยิบของคนอื่นผิดกลับบ้านมา คือ การเขียนชื่อติดไว้บนของเล่น หรือของใช้ทุกชิ้นของเด็ก ซึ่งนอกจากป้องกันเด็กไม่ให้หยิบของเพื่อนผิดกลับบ้านแล้วยังทำให้ ของที่หล่นหายได้กลับคืนมาด้วย อีกปัจจัยสำคัญที่ฝึกความซื่อสัตย์ให้ลูกคือ ความใส่ใจ ไม่ละเลย เพิกเฉยทำเป็นไม่เห็นเมื่อลูกนำของคนอื่นกลับบ้าน บ่อยครั้งที่ตอนกลับจากโรงเรียน ลูกชายคน เล็กเดินกลับบ้านมาพร้อมเพื่อนอีกสองสามคน ทุกครั้งที่ผ่านบ้านที่มีหินสวยจำนวนมากปูไว้ที่สนาม หน้าบ้าน เด็กๆ มักไปหยิบจับหินเล่นและทำท่าจะเอาใส่กระเป๋ากลับบ้าน แต่คุณแม่ญี่ปุ่นจะห้าม อย่างเด็กขาดไม่ให้เด็กเอาหินของบ้านคนอื่นกลับบ้าน แม้ว่าหินเป็นเพียงหินก้อนเล็กๆ ที่ไม่ได้มี ราคามากมายแต่การใส่ใจไม่ให้ลูกหยิบกลับเป็นการปลูกฝังความซื่อสัตย์ที่มั่นคงให้กับลูก
การฝึกความซื่อสัตย์ให้กับเด็กเล็กนั้นทำได้ง่ายจากการเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ใหญ่และ การใส่ใจไม่ยอมให้ลูกเอาของคนอื่นมาเป็นของตนเองแม้เป็นสิ่งเล็กน้อยแทบไม่มีคุณค่าก็ตาม แม้ว่าสังคมจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปทางวัตถุนิยมมากขึ้น แต่ความซื่อสัตย์ยังเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้ เด็กน้อยทั้งหลายเติบโตขึ้นแล้วสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสง่างามในอนาคต
Cr. campus.sanook.com
|