ท่านพุทธทาสภิกขุ สอนเรื่องครอบครัว ในแง่มุมที่คิดไม่ถึงสำหรับ คนเกลียดวัด
ท่านพุทธทาสภิกขุสอนเรื่องครอบครัวได้อย่างกินใจ เห็นธรรมะลึกซึ้ง จนตระหนักว่าหากยึดตามคำสอนของท่าน คนเกลียดวัด ที่มองเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องทางโลก จะเข้าใจในทันทีว่า หากปฏิบัติตามคำสอนนี้ เรื่องของการมีครอบครัวเป็นเรื่องเดียวกับทางธรรม
เรื่องของครอบครัวเป็นกิจของฆราวาส แต่ภิกษุสมัยนี้ก็อยู่กันไม่ต่างจากครอบครัว ผิดกับภิกษุในสมัยพุทธกาลที่ไม่สนใจเรื่องครอบครัว เพราะภิกษุในปัจจุบันยังสนใจกับบุพการี ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ คือยังห่วงเรื่องทางโลกอยู่ทั้งที่ตนมาเป็นภิกษุผู้ละทางโลกแล้ว คำพูดโดยสังเขปของท่านพุทธทาสที่ยกมานี้ แม้ท่านจะกล่าวมานานมากแล้ว ในปัจจุบันก็ยังพบเห็นพระภิกษุมีความกตัญญูกตเวที ดูแลโยมพ่อโยมแม่อย่างที่เห็นตามข่าว ฆราวาสอย่างเรามองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ที่ว่า “ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี” แต่ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า ภิกษุผู้ละทางโลกแล้วต้องละให้ได้ เหมือนอย่างภิกษุในสมัยพุทธกาลที่ไม่เลี้ยวหลังไปสนใจครอบครัวอีกเลยหลังจากออกบวช ทั้งนี้ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวถึงเรื่องการมีครอบครัวของฆราวาสไว้อย่างน่าสนใจว่า
ทำไมฆราวาสมีครอบครัว แต่เราจะพูดกันถึงครอบครัวธรรมดาสามัญของฆราวาสทั้งหลายว่า เขามีครอบครัวกันทำไม ? โดยขนบธรรมเนียมประเพณี เขาจัดให้มีครอบครัวอย่างเป็นระเบียบ เพื่อว่าคนอย่าต้องเบียดเบียนกัน เพราะปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ครั้นมีครอบครัวแล้ว ก็หลงใหลอย่างหลับหูหลับตา ในความหมายของคำว่า “ครอบครัว” มีความรักอย่างโง่เขลาในเรื่องอันเกี่ยวกับครอบครัว จนได้เป็นทุกข์อันเนื่องมาจากครอบครัวนั้นเอง สมน้ำหน้าคนโง่ สมน้ำหน้าคนเกลียดวัด ที่ไม่รู้จักว่าครอบครัวนั้นคือใคร ? และจะต้องมีทำไม ?
ครอบครัวที่แท้จริงคือเพื่อนร่วมเดินทางไปสู่พระนิพพาน ถ้ามองดูด้วยสติปัญญาในเรื่องทางจิตวิญญาณ ควรจะมองเห็นได้ว่า ครอบครัวนั้นคือเพื่อนเดินทางไปนิพพาน พูดอย่างนี้คนเกลียดวัดก็ว่าบ้าแล้ว…บ้าแล้ว เพื่อนเดินทางไปนิพพาน นั่นแหละคือครอบครัว การที่มีครอบครัวให้มากขึ้น ก็เพื่อว่าจะได้เป็นเพื่อนเดินทางไปนิพพาน นี่หมายความว่าเป็นมนุษย์ที่ดีทั้งผัวทั้งเมีย เป็นมนุษย์ที่มีธรรมะ ไม่เกลียดวัดกันทั้งผัวทั้งเมีย รู้จักว่าชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาจะต้องทำอะไร เขาก็ปรึกษาหารือเป็นคู่จิตคู่ใจกันสำหรับจะให้ก้าวไปทางของพระนิพพาน ผัวเมียคู่ไหนนอนปรึกษาหารือกันเรื่องก้าวหน้าไปนิพพานบ้าง ? ก็ไปไต่ถามดูกันเอง
สามีภรรยาชวนคุยเรื่องธรรมให้เข้าใจความจริงของโลก อาตมากำลังพูดว่า ครอบครัวนั้นคือเพื่อนเดินทางไปนิพพาน สามีภรรยาหารือกันเพื่อความก้าวหน้าในทางจิตใจให้สูงขึ้นไป ไม่ให้มาหลงใหลปักหลักอยู่ที่นี่ สามีภรรยาให้ความสะดวกแก่กันและกัน ในการที่จะรู้จักชีวิต รู้จักความทุกข์ รู้จักความเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ แล้วก็จะได้ถอนตัวออกมาเสียโดยเร็ว สามีภรรยาส่งเสริมซึ่งกันและกันให้เกิดความสะดวกง่ายดายในการที่จะเดินทางไปพระนิพพาน
หน้าที่ของบุตรที่แท้จริง ทีนี้ ลูกนั้นมีไว้สำหรับเผื่อว่า ถ้าพ่อแม่ไม่สามารถบรรลุถึงพระนิพพานได้ ก็จะมอบมรดกให้ลูกเดินทางต่อไปจนกว่าจะถึงพระนิพพานได้ ถ้าชั้นลูกไม่ได้ ก็ขอให้ได้ชั้นหลาน ชั้นเหลน ให้มันได้สักชั้นหนึ่ง จนพอที่จะอวดคุยได้ว่า มนุษย์ยังมีอยู่สำหรับการบรรลุถึงนิพพาน อย่าให้มันเสียชื่อของมนุษย์เลย ให้กล่าวได้ว่า มนุษย์นี้ที่ไปถึงนิพพานนั้นยังมีอยู่ ถ้าพ่อแม่ไปไม่ถึง ก็ให้ลูกได้ถึง ลูกไม่ถึงก็ขอให้หลานถึง ฉะนั้นรวมกันทั้งครอบครัวแล้ว ก็ต้องเรียกว่าเป็นเพื่อนเดินทางไปนิพพาน โดยแท้จริงเป็นอย่างนี้
คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้ดวงตาเบิกกว้างเข้าใจธรรมะมากขึ้น ครอบครัวบางทีอาจไม่ใช่เรื่องของทางโลก หรือเพื่อการมีทายาทเพื่อสืบสกุลเท่านั้น ท่านพุทธทาสภิกขุสอนว่า การเกิดขึ้นของครอบครัว คือการได้มีเพื่อนร่วมเดินทางไปสู่พระนิพพาน สามีภรรยาก็คือคู่มิตรที่จะแนะนำและชักพาไปสู่พระนิพพาน (แสดงว่านิพพานไม่ใช่เพียงการบรรลุธรรมของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยเหลือซึ่งกันแล้วกัน และชักพาไปถึงพระนิพพานได้) ส่วนหน้าที่ของบุตรท่านก็กล่าวสอนไว้อย่างลึกซึ้งกินใจ หากพ่อแม่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ลูกก็เป็นผู้สืบทอดต่อ หากลูกทำไม่ได้ หลาน หรือเหลนเป็นผู้รับช่วงต่อ การอธิบายเรื่องครอบครัวฆราวาสของท่านพุทธทาสภิกขุที่ไม่มีเรื่องของทางโลกมาเจือปน ทำให้เรื่องทางโลกกลายเป็นเรื่องทางธรรมที่บริสุทธิ์และละเอียดอ่อน
Cr. Goodlifeupdate ภาพประกอบจาก freepik
|