รู้จัก PM 2.5 ฝุ่นจิ๋วสุดร้าย บ่อนทำลายสุขภาพ
สำหรับชั่วโมงนี้ ประเด็นสุขภาพที่ตกเป็นหัวข้อหลักของทุกคนก็คือเรื่อง “PM 2.5” หรือฝุ่นพิษขนาดเล็กอันเกิดจากมลภาวะ มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งสามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอด และกระแสเลือด ทำให้สามารถแพร่กระจายไปสู่ระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ เมื่อเรารับทราบอันตรายเช่นนี้แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่ตื่นตัว และหาหนทางป้องกัน
PM 2.5 คืออะไร คำว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5 ส่วนตัวเลข 2.5 นั้นมาจากหน่วย 2.5 ไมครอนนั่นเอง จากการศึกษาโดย Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ยังพบว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง จึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลัน ระบบหายใจส่วนล่าง ก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ประมาณ 50,000 คนต่อปี แม้ฝุ่นนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อมาอยู่รวมกันจะกินพื้นที่ในอากาศมหาศาล ล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศปริมาณสูง เกิดเป็นหมอกควันอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้
PM 2.5 มาจากไหน สาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองมีหลายปัจจัย เช่น โรงผลิตไฟฟ้า ควันท่อไอเสียจากรถยนต์ การเผาไม้ทำลายป่า เผาขยะ รวมถึงควันบุหรี่ด้วย ซึ่งปกติแล้วกิจกรรมต่าง ๆ ที่คนเราทำทุกวันก็ส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่แหล่งต้นตอสำคัญของ PM2.5 ในบรรยากาศ คือ
1. การคมนาคมขนส่ง การคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะไอเสียจากยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่าง ๆ ทั้ง ดีเซลและแก๊สโซฮอล์เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของ PM 2.5 จากการประเมินพบว่ามีการปล่อย PM 2.5 โดยตรงราว 50,240 ตันต่อปี นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งกำเนิดออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) 246,000 ตันต่อปี และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) อีกราว 14,000 ตันต่อปี
2. การเผาในที่โล่ง การเผาในที่โล่งปล่อยฝุ่นพิษ PM 2.5 มากถึง 209,937 ตันต่อปี รวมถึงหมอกควันพิษในภาคเหนือตอนบนของไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งผลิตป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่
3. การผลิตไฟฟ้า แม้ว่าภาคการผลิตไฟฟ้าจะเป็นแหล่งกําเนิด PM 2.5 เป็นลําดับรองจากการเผาในที่โล่งและการขนส่ง แต่การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนต่อปีจากภาคการผลิตไฟฟ้านั้นมีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาแหล่งกําเนิดต่าง ๆ ซึ่งนําไปสู่เกิด PM 2.5 จากกระบวนการทางเคมีในบรรยากาศที่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนเป็นสารตั้งต้น
4. อุตสาหกรรมการผลิต ประมาณการว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตปล่อย PM 2.5 ราว 65,140 ตันต่อปี ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 212,000 ตันต่อปี และออกไซด์ของไนโตรเจนอีก 222,000 ตันต่อปี
กล่าวได้ว่าฝุ่นพิษ PM 2.5 นี้ ถือเป็นฝุ่นจิ๋วที่สามารถแพร่กระจายไปได้ทุกที่ ดังนั้นหนทางดูแลตัวเองในเบื้องต้นก็คือสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นชนิด N95 ก่อนออกจากบ้านกันด้วยนะคะ และเฝ้าสังเกตอาการของคนในบ้านว่าใครที่ภูมิแพ้กำเริบหนักขึ้น ไอ จามผิดปกติ ก็ขอให้ดูแลกันเป็นพิเศษในระหว่างนี้ด้วยค่ะ
มา “สุขใจเพราะเราเลือกดูแลกัน” ด้วยการรู้เท่าทัน “รู้จัก PM 2.5 ฝุ่นจิ๋วสุดร้าย บ่อนทำลายสุขภาพ” เมื่อไอให้นึกถึงเฟลมเม็กซ์ และเมื่อรู้สึกระคายเคืองในลำคอให้นึกถึง Flemomile สเปรย์สำหรับช่องปากและลำคอนะคะ
ข้อมูลจาก Greenpeace, Honestdocs
|