หยุด! วัยรุ่นไทย "ฆ่าตัวตาย" ทุกปัญหามีทางออก
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ แนะตั้งคำถาม แสดงความต้องการรับฟังทุกปัญหา ไม่ตำหนิ และพร้อมจะช่วยเหลือ หากอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อมีคนต้องการฆ่าตัวตาย
กรณีนักศึกษากระโดดอาคารเรียนเสียชีวิตในช่วงบ่ายวานนี้ ล่าสุด วันนี้ (5 มี.ค.2562) รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา เปิดเผยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ได้พูดคุยกับครอบครัวของนักศึกษาแล้ว ทราบว่ามีอาการป่วยโรคซึมเศร้า โดยช่วงเย็นวันนี้ทางคณาจารย์ของคณะและมหาวิทยาลัย จะเดินทางไปร่วมพิธีศพ ใน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น
“มหาวิทยาลัยจะดูแลและให้ความช่วยเหลือครอบครัวนักศึกษาอย่างเต็มที่”
รองคณบดี ยังระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยได้มีการจัดตั้งหน่วยสุขภาพจิต เพื่อดูแลและให้คำปรึกษากับนักศึกษาอยู่แล้ว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้จัดอบรมบุคลากร ทั้งคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ในคณะ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพูดคุยและดูแลนักศึกษา รวมถึงวิธีการในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
ชี้สัญญาณเตือน ก่อนวัยรุ่นคิดฆ่าตัวตาย ก่อนหน้านี้ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของนักศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จ ของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เปิดเผยตัวเลขเด็กอายุตั้งแต่ 0-19 ปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่ลดลง
• ปี 2556 ฆ่าตัวตาย 193 คน อัตราฆ่าตัวตายกลุ่มวัยรุ่น ร้อยละ 1.14 • ปี 2557 ฆ่าตัวตาย 162 คน อัตราฆ่าตัวตายกลุ่มวัยรุ่น ร้อยละ 0.97 • ปี 2558 ฆ่าตัวตาย 153 คน อัตราฆ่าตัวตายกลุ่มวัยรุ่น ร้อยละ 0.93 • ปี 2559 ฆ่าตัวตาย 159 คน อัตราฆ่าตัวตายกลุ่มวัยรุ่น ร้อยละ 0.99 • ปี 2560 ฆ่าตัวตาย 140 คน อัตราฆ่าตัวตายกลุ่มวัยรุ่น ร้อยละ 0.89
ไทยพีบีเอสออนไลน์จึงสอบถามไปยังเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นคิดฆ่าตัวตาย โดย พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ระบุว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากโรคซึมเศร้า และอาจเกิดเหตุการณ์กระทบจิตใจอย่างรุนแรงเกิดขึ้น จนทำให้มีความคิดต้องการทำร้ายตัวเอง แต่ผู้ที่ต้องการจะฆ่าตัวตายมักมีการส่งสัญชาติออกมาก่อนเสมอ
สำหรับสัญญาณเตือนที่แสดงให้เห็นถึงความคิดฆ่าตัวตาย คือ อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของวัยรุ่น ซึ่งอาจมีอาการหงุดหงิด วิธีการพูดที่รุนแรง ฉุนเฉียว หรือมีอารมณ์ที่เศร้ามากจนผิดปกติ รวมทั้งคำพูดที่ต้องการทำร้ายตนเอง
“เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เกิดขึ้น คนรอบข้างต้องเริ่มสังเกตและเข้าพูดคุย รับฟังให้มาก พูดให้น้อย ไม่แนะนำ แต่พยายามเข้าใจให้มากที่สุด”
พญ.วิมลรัตน์ ยังระบุอีกว่า คนรอบข้างสามารถสอบถามถึงความต้องการทำร้ายตนเองของผู้ป่วยซึมเศร้าได้ หากเขามีความต้องการทำร้ายตัวเอง ก็ถามต่อไปถึงการคิดฆ่าตัวตาย
“การถามเขาว่าวางแผนหรือยัง หรือแค่เริ่มคิด ไม่เป็นการกระตุ้นเขาแน่นอน คนที่ไม่คิดฆ่าตัวตาย เมื่อถูกถาม ก็จะไม่มีอะไร แต่หากเขาตอบว่าคิด เราจะต้องรีบรักษา ต้องฉุดเขาไว้ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด”
แนะวิธีพูดคุย เมื่อมีคนคิด "ฆ่าตัวตาย" รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ แนะนำวิธีการในการพูดคุยกับผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย เมื่ออยู่ในกรณีฉุกเฉินหรือเร่งด่วน โดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการพูดคุยอยู่ด้วย ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าพูดคุย เพื่อยืดเวลาออกไปได้ก่อน สำหรับการตั้งคำถามควรเป็นคำถามทั่วไป แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการรับฟัง ไม่ตำหนิ และพร้อมจะช่วยเหลือ และระหว่างนั้นต้องมีการติดต่อตำรวจหรือผู้เชียวชาญที่สามารถพูดคุยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• ชื่ออะไร • เกิดอะไรขึ้น • เราอยากช่วยนะ • ให้เราช่วยได้ไหม • ร้อนไหม • หิวรึเปล่า • อยากคุยกับใครไหม • เราจะติดต่อให้
สำหรับคนที่กังวลว่า การพูดคุยกับผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น อาจเป็นการกระตุ้นให้คนผู้นั้น ตัดสินใจกระทำลงไปทันที แต่พญ.วิมลรัตน์ ยืนยันว่า คนที่จะทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย จะตัดสินใจด้วยตัวเอง สำหรับผู้ที่ต้องการช่วยเหลือ หากพูดคุยแล้วช่วยได้ก็เป็นเรื่องดี แต่หากช่วยไม่ได้ก็ใช่ความผิดของคนที่ต้องการช่วยเหลือแต่อย่างใด
ข้อมูลจาก Thaipbs
|