[close]
choosewithcareclub.com
go to facebook YouTube
HOME ABOUT US HEALTH CARE SHARE YOUR STORY NEWS CONTACT

ระวัง เจ้ายุงร้าย อันตรายในหน้าฝน

ระวัง เจ้ายุงร้าย อันตรายในหน้าฝน

ระวัง เจ้ายุงร้าย อันตรายในหน้าฝน


          สภาพอากาศโลกได้เปลี่ยนแปลงไป ดังปีที่ผ่านมาฤดูหนาวก็มีฝนตกหรือไม่ก็ร้อนอบอ้าว ฤดูร้อนกลับมีฝนตกหรือเกิดความกดอากาศสูงทำให้อากาศหนาวเย็นได้อีก บางวันหนักไปกว่านั้นมีทั้งร้อนฝนหนาวภายในวันเดียวกัน ร่างกายบางคนอาจรับการแปรปรวนของอากาศเช่นนี้ไม่ไหวทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย


          ช่วงนี้ก็เข้ามาสู่ฤดูฝนอีกครั้ง ซึ่งปกติจะอยู่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมจนถึงกลางเดือนตุลาคม เนื่องจากความชื้นในอากาศและปริมาณน้ำฝนมากกว่าเดือนอื่นๆ เป็นสาเหตุของโรคที่เกิดจากความชื้นและน้ำขังได้โดยเฉพาะโรคติดต่อที่เกิดจากน้ำโดยตรง หรือเกิดจากพาหะนำโรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และสิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างคือ ยุงที่ชุกชุมมากกว่าปกติ ยุงเป็นพาหะนำโรคมากมายทำให้เกิดความเจ็บป่วยและอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพฯ จึงได้รวบรวมข้อมูลสำคัญของโรคจากยุงที่พบบ่อยในฤดูฝน ได้แก่ โรคไข้เลือดออกเดงกี่ โรคไข้สมองอักเสบเจอี โรคไข้มาลาเรีย เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ให้กับทุกท่าน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ และป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยจากโรคเหล่านี้ครับ


     
          1. ไข้เดงกี่ และไข้เลือดออกเดงกี่ (Dengue fever และ Dengue Hemorrhagic fever)

           ไข้เดงกี่ และ ไข้เลือดออกเดงกี่ เกิดจากอะไร
           เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี สายพันธุ์ 2501 (Dengue virus 2501) โดยมี ยุงลาย เป็นพาหะนำโรคยุงลายมีลักษณะสีขาวสลับดำ มีแหล่งเพาะพันธุ์คือ แหล่งน้ำขังที่ใสและนิ่ง พบชุกชุมมากในฤดูฝน ใช้เวลาฟักตัวจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 9-12 วัน ยุงลายเป็นยุงที่ออกดูดเลือดตอนกลางวัน น้ำลายของยุงลายจะมีเชื้อไวรัสเดงกี่ปนเปื้อนอยู่ เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่กระแสเลือดของคนที่ถูกยุงลายกัดได้พบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ โดยผู้ใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนพบน้อยกว่าเด็ก แต่เมื่อใดถ้าอาการเกิดรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้วมักจะทรุดหนักกว่าผู้ป่วยเด็ก โดยเชื้อไวรัสจะทำให้มีอาการไข้สูง ถ้ามีไข้เพียงอย่างเดียวจะเรียกว่าไข้เดงกี่ แต่ถ้าตรวจเลือดพบภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดออกง่ายและมีการรั่วของพลาสมา จะเรียกว่าไข้เลือดออกเดงกี่ ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกเดงกี่อาจมีน้อยมากคือมีไข้เพียงอย่างเดียว หรืออาจรุนแรงมากจนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันไวรัสนี้ การรักษาจึงเน้นที่อาการและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้


           เราติดโรคไข้เดงกี่ได้อย่างไร
           เกิดจากยุงลาย (Aedes aegypti) โดยยุงลายตัวเมียจะดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ช่วงที่มีไข้สูง ซึ่งจะมีเชื้ออยู่ในกระแสเลือด และเชื้อจะเพิ่มจำนวนในยุงนาน 8-10 วัน จากนั้นเชื้อจะไปสะสมอยู่ที่ต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงลายกัดคนจะมีน้ำลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ปนออกมาด้วย ทำให้สามารถแพร่เชื้อให้คนที่ถูกกัดคนต่อไปได้ อายุขัยยุงลายชนิดนี้ประมาณ 30-45 วัน


           มีอาการอย่างไรบ้าง
           1. ไข้สูง มักมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า38.5 องศาเซลเซียส ไข้สูงเฉียบพลันและสูงลอยนาน 2-7 วัน
           2. ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดกระดูก
           3. อาจพบอาการเลือดออกง่าย มีจุดเลือดออกขึ้นตามตัว เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ ผู้ป่วยเพศหญิงอาจมีประจำเดือนออกมากผิดปกติ หรือมีรอยจุดแดงตามผิวหนังบริเวณที่มีการกดทับ
           4. อาเจียน ปวดท้องมาก
           5. อาจเกิดภาวะช็อก ปลายมือปลายเท้าเย็น เหงื่อออกตัวเย็น ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะ 4-6 ชั่วโมง ระดับการรับรู้สติสัมปชัญญะลดลง ผู้ป่วยเด็กเล็กอาจจะมีอาการร้องกวน กระสับกระส่าย


           การติดเชื้อไวรัสเดงกี สามารถแบ่งกลุ่มอาการตามความรุนแรง ได้เป็น
           1. กลุ่มอาการไวรัสคือ มีแต่อาการไข้ 2-3 วัน มีผื่นแดงเล็กน้อย
           2. ไข้เดงกี่คือ มีไข้ ปวดศีรษะ เมื่อยตัว หรือ ปวดกล้ามเนื้อมาก ปวดกระดูก มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
           3. ไข้เลือดออกเดงกี่มีไข้สูงลอย เลือดออกตามผิวหนัง หรืออวัยวะภายใน ตับโต มีการรั่วของพลาสมาออกจากเส้นเลือด
           4. ไข้เลือดออกเดงกี่ช็อกคือมีภาวะช็อกร่วมด้วย


           การปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นโรคไข้เดงกี่ หรือ โรคไข้เลือดออกเดงกี่
           1. ในช่วงที่มีไข้สูง ควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพราะการดื่มน้ำเปล่าจะทำให้ระดับเกลือแร่ในเลือดเสียสมดุลได้
           2. ลดไข้ ด้วยการเช็ดตัวบ่อยๆ และรับประทานยาลดไข้ แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล และรับประทานปริมาณยาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่เกินวันละ 8 เม็ด เพราะถ้ามากเกินไปจะทำให้ตับอักเสบได้ ห้ามรับประทานยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกไม่หยุด
           3. หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง หรือการเคี้ยวอาหารที่แข็ง จนกว่าจะไม่มีอาการประมาณ 3-5 วัน เพราะอาจยังมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ทำให้มีเลือดออกง่าย
           4. ถ้าคนใกล้ชิดมีไข้สูง แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจอาการ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข้เลือดออกเช่นเดียวกัน
           5. ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจเกิดผลเสียได้มากเช่น ยาทำให้ตับอักเสบมากขึ้น หรือเกิดแผลในกระเพาะอาหารจนทำให้เลือดออกในช่องท้อง


           การป้องกันการติดเชื้อ
           1. พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง กางมุ้ง ติดมุ้งลวด หรือใช้อุปกรณ์ดักจับยุง
           2. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะภาชนะที่มีน้ำขังควรเทน้ำทิ้งหรือหาฝาปิดภาชนะให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ ยุงลายสามารถวางไข่ได้ และควรกำจัดลูกน้ำยุงลายบริเวณที่อยู่อาศัย (ภายในระยะรัศมี 50 เมตร)


           อาการที่ควรไปพบแพทย์
           1. ไข้ขึ้นและมีอาการแย่ลงมาก
           2. มีเลือดออกผิดปกติ เช่น มีจุดเลือดออกบริเวณผิวหนังตามตัว มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ หรือมีประจำเดือนออกมากผิดปกติ
           3. อาเจียนมาก ปวดท้องมาก
           4. ซึมลง ไม่ดื่มน้ำ หรือบางรายอาจกระหายน้ำมากกว่าปกติ
           5. มีอาการช็อก ได้แก่ ปลายมือปลายเท้าเย็น เหงื่อออกตัวเย็น ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะในช่วงเวลา 4-6 ชั่วโมง ระดับสติสัมปชัญญะการรับรู้น้อยลง ในเด็กเล็กจะมีอาการร้องกวน กระสับกระส่าย
           6. ภาวะเลือดออกมาก ได้แก่ อาเจียนเป็นเลือด/ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ มีประจำเดือนออกมากผิดปกติ หรือมีเลือดออกของอวัยวะภายใน
           7. ภาวะน้ำเกินจะมีอาการบวม แน่นหน้าอก หายใจเร็วเหนื่อยหอบ แน่นท้อง เนื่องจากมีน้ำท่วมปอด มีน้ำในช่องท้อง
           8. อาการทางระบบประสาท ชักเกร็ง มีการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกตัว เอะอะโวยวาย สับสน ซึมมาก ไม่รู้สึกตัว (พบได้ไม่บ่อย)


           สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเดงกี่
           ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเด็กมีโอกาสเสียชิวิตจากโรค ไข้เลือดออกเดงกี่ได้มากกว่าผู้ใหญ่ ร้อยละ 62.5 เสียชีวิตจากภาวะช็อกนาน และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะเลือดออกมาก นอกจากนี้พบว่าร้อยละ 37.5 เกิดจากภาวะน้ำเกิน และอีกร้อยละ 12.5 หรือ 1 ใน 8 ของผู้ป่วยโรคนี้เสียชีวิตจากอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก สมองบวม ฯลฯ


     

           2. ไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis)

           ไข้สมองอักเสบ เจ อี เกิดจากอะไร
           โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Japanese encephalitis virus (JEV) ที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากพบรายงานผู้ป่วยครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2476 และพบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยมี ยุงรำคาญเป็นพาหะนำโรคยุงรำคาญมีสีน้ำตาลหรือดำ เพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำขังนิ่งจะเป็นน้ำสะอาดหรือสกปรกก็ได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการทำนาร่วมกับการทำปศุสัตว์ ยุงชนิดนี้พบชุกชมที่ภาคเหนือถึงร้อยละ 80 ระยะฟักตัวจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยนาน 9-13 วัน ยุงรำคาญมักจะออกหากินในเวลากลางคืน ผู้ติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบ เจ อี เป็นได้ทุกช่วงอายุแต่พบมากในเด็กแรกเกิดถึง14 ปี โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน เชื้อไวรัสจะทำให้สมองเกิดการอักเสบ มีโอกาสสมองพิการและเสียชีวิตได้มาก ความสำคัญจึงอยู่ที่การป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ ซึ่งนอกจากจะต้องระวังไม่ให้ยุงกัดแล้ว ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปี สำหรับผู้ที่ติดเชื้อนี้แล้ว ไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการให้ยาตามอาการและการระวังไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน เมื่อป่วยเป็นโรคนี้แล้วพบว่า อัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50


           เราติดโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี ได้อย่างไร
เกิดจากโดนกัดโดยยุงรำคาญ (Culex tritaeniorrhynchus) ที่มีเชื้อไวรัส Japanese Encephalitis Virus (JEV) โดยยุงรำคาญตัวเมียจะดูดเลือดจากลูกสุกรที่เป็นแหล่งเชื้อไวรัส JEV (สามารถพบในโค กระบือ ม้า ลา หรือ แพะ ได้) เมื่อเชื้อเข้าสู่ตัวยุงแล้วจะเพิ่มจำนวนและไปสะสมที่ต่อมน้ำลาย ซึ่งทำให้สามารถแพร่เชื้อให้คนที่ถูกยุงกัดได้


           อาการของโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี
           เมื่อถูกยุงรำคาญกัด เชื้อจะใช้เวลาฟักตัว 5-15 วัน จากสถิติพบว่าผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสจากยุงกัดส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ มีเพียง 1 คนใน 200-300 คนเท่านั้นที่จะแสดงอาการป่วยออกมา ทั้งนี้ขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่ละคน

           เริ่มจากอาการไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน มีอาการเหล่านี้นานประมาณ 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 2-3 วัน) จากนั้นจะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท เช่น ต้นคอแข็ง ซึมลง เพ้อ ชัก หมดสติ อัมพาต ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ร้อยละ 15 -30 หลังจากนั้นไข้จะเริ่มลดลง อาการทางระบบประสาทอาจค่อยๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยจำนวน 1 ใน 3 หรืออาจสูงถึงครึ่งหนึ่งที่จะมีภาวะแทรกซ้อนหลงเหลืออยู่ เช่น สมองบางส่วนถูกทำลายเกิดอาการชัก และความพิการตามมา รวมถึงอาจทำให้ระดับสติปัญญาถดถอยลง


            การป้องกันการติดเชื้อ
            1. เด็กทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี (JE vaccine) ซึ่งอยู่ในโปรแกรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจอี ปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่
                1.1 วัคซีนชนิดเชื้อตาย สามารถรับการฉีดได้ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 1 ปีครึ่ง ส่วนการฉีดครั้งที่ 2 ให้ทิ้งระยเวลาห่างจากเข็มแรก 7-14 วัน และเข็มที่ 3 ฉีดห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ1 ปี และอาจต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 4-5 ปี อีกไม่เกิน 2 ครั้ง
                1.2 วัคซีนแบบชนิดเชื้อเป็น เข็มแรกฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี และเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 ปี โดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น
                หมายเหตุ: สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี มาก่อน ควรฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม
            2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง กางมุ้ง ติดมุ้งลวด หรือใช้อุปกรณ์ดักจับยุง
            3. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและทำลายลูกน้ำยุงบริเวณที่อยู่อาศัย และบริเวณที่มีปศุสัตว์ (โดยเฉพาะสุกร) และให้สัตว์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค


            อาการที่ควรไปพบแพทย์
           มี อาการไข้ ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น ต้นคอแข็ง ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ซึมลง เพ้อ ชักหมดสติ หรืออัมพาต ควรไปพบแพทย์ทันที


     

           3. โรคมาลาเรีย (Malaria)

           โรคมาลาเรีย หรือ ไข้จับสั่น หรือ ไข้ป่า เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) ที่ก่อโรคในมนุษย์มีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ P. falciparum, P. vivax, P. malariae, P. ovale และ P. knowlesi โรคนี้มีประวัติการระบาดมายาวนานกว่า 1,500 ปี จนเมื่อปีพ.ศ. 2423 แพทย์ทหารชาวฝรั่งเศสชื่อ Charles-Louis-Alphonse Laveran ได้ตรวจพบเชื้อพลาสโมเดียมในเม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ยุงที่เป็นพาหะนำโรคนี้คือ ยุงก้นปล่อง ในสกุล Anopheles ซึ่งเป็นยุงที่มีขนาดใหญ่ สีน้ำตาลหรือดำ จุดสังเกตคือเวลาเกาะแล้วดูดเลือดจะยกก้นขึ้นทำมุมกับผิวหนังประมาณ 45 องศา พบชุกชุมมากในฤดูฝน ช่วงฟักตัวจนถึงตัวเต็มวัย ใช้เวลาระยะเวลานาน 9-12 วันโดยยุงก้นปล่องสายพันธุ์ dirus จะพบในป่าทึบ โดยใช้แอ่งน้ำขังนิ่ง น้ำสะอาด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และมักจะออกมาดูดเลือดคนในเวลากลางคืน ส่วนยุงก้นปล่องสายพันธุ์ minimus พบบริเวณชายป่า มีแหล่งเพาะพันธุ์คือลำธารที่มีน้ำสะอาดไหลเอื่อยๆ ยุงสาย
พันธุ์หลังนี้จะออกมากัดคนในช่วงเวลาหัวค่ำจนถึงดึก เด็กที่ได้รับเชื้อจะอาการหนักกว่าผู้ใหญ่ ปัจจุบันมียาฆ่าเชื้อพลาสโมเดียมเฉพาะ แต่พบว่าเชื้อดื้อยาค่อนข้างมาก ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ดีสำหรับป้องกันโรคมาเลเรีย

 
            การติดต่อ
           โรคนี้เกิดจากยุงก้นปล่อง (ทั้งหมดมี 6 สายพันธุ์ที่ก่อโรคในประเทศไทย ที่สำคัญ คือ Anopheles dirus และ Anopheles minimus) ที่มีเชื้อพลาสโมเดียม โดยยุงก้นปล่องตัวเมียจะดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อพลาสโมเดียมระยะมีเพศ (Gametocyte) จากนั้นเชื้อจะเข้าไปเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนในตัวยุงจนเป็นระยะตัวอ่อน (Sporozoite) และจะไปสะสมที่ต่อมน้ำลายของยุง ทำให้สามารถแพร่เชื้อให้คนที่ถูกยุงกัดได้ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนจะเจริญเติบโตต่อไป ทำให้เกิดอาการไข้เป็น ๆ หาย ๆ นอกจากโรคนี้จะติดต่อโดยการถูกยุงก้นปล่องกัดแล้ว ยังสามารถติดต่อจากมารดาถ่ายทอดทางรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้ หรือ การได้รับเลือดจากผู้ที่มีเชื้อพลาสโมเดียมก็ทำให้ติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน


            อาการของโรคมาลาเรีย
            เมื่อถูกยุงก้นปล่องกัด เชื้อพลาสโมเดียมแต่ละสายพันธุ์จะใช้ระยะเวลาฟักตัวไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยแล้วทุกสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ falciparum สายพันธุ์ P. vivax สายพันธุ์ P. ovale และสายพันธุ์ P. knowlesi จะใช้ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน มีเพียงสายพันธุ์ P.malariae เท่านั้นที่ใช้ระยะฟักตัวนานเกินสองสัปดาห์คือประมาณ 18-40 วัน จึงจะเริ่มแสดงอาการของโรค

            อาการ ที่สำคัญคือ ไข้ โดยช่วงแรกจะมีไข้ขึ้นไม่เป็นเวลา ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ประมาณ 2-3 วัน ต่อมาไข้จะสูงขึ้นเป็นเวลา ผู้ที่ติดเชื้อพลาสโมเดียมสายพันธุ์ P. falciparum จะมีไข้กลับซ้ำทุกวัน แต่ถ้า เป็นสายพันธุ์ P. vivax จะมีไข้ทุก 24-48 ชั่วโมง ส่วนสายพันธุ์ P. malariae มีไข้ทุก 72 ชั่วโมง ส่วนสายพันธุ์ P. ovale มีไข้ทุก 48 ชั่วโมง ในขณะที่สายพันธุ์ ช่วงที่มีไข้จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

            ระยะที่ 1. ระยะหนาวสั่น อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น ชีพจรเร็ว ผิวหนังเย็นซีด มีอาการหนาวสั่นขนลุก ห่ม
ผ้าหรือประคบอุ่นไม่หาย ระยะนี้นานประมาณ 15-20 นาที ก่อนจะเข้าสู่ระยะต่อไป

            ระยะที่ 2. ระยะร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงประมาณ 38-40 องศาเซลเซียส ชีพจรเต้นแรง ผิวหนังร้อนแดง
คลื่นไส้อาเจียน ระยะนี้นานประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 3

            ระยะที่ 3. ระยะเหงื่อออก อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว เหงื่อออกทั่วร่างกาย ระยะนี้นานประมาณ 1 ชั่วโมง ต่อมาร่างกายจะเข้าสู่ระยะพัก อาการปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีอาการอื่น ช่วงเวลานี้ขึ้นกับการแบ่งตัวของเชื้อพลาสโมเดียมแต่ละสายพันธุ์ นอกจากอาการไข้หนาวสั่นแล้ว ผู้ติดเชื้อมาเลเรียอาจมีอาการหน้าซีด ปากซีด จากการที่เชื้อทำลายเม็ดเลือดแดงจนแตก เกิดภาวะโลหิตจาง มีอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน และมีปัสสาวะสีเข้มเหมือนสีน้ำปลาหรือสีโค้กได้

            การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคมาลาเรีย
            1. กินยาฆ่าเชื้อมาลาเรียให้ครบตามแพทย์สั่ง เพราะเชื้อมาลาเรียมีโอกาสดื้อยาสูง ทำให้อาการไม่ดีขึ้นหรืออาจแย่ลง และถ้าเป็นชนิด P. vivax และ P. ovale ต้องกินยาต่อเพราะจะฆ่าเชื้อที่หลบซ่อนที่เซลล์ตับ ทำให้ลดโอกาสการเกิดซ้ำได้
            2. พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคมาลาเรีย
            3. การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการขาดน้ำได้


            การป้องกันการติดเชื้อ
            1. หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการถูกยุงก้นปล่องกัด เช่น ป่าทึบ หรือ แหล่งที่มีการระบาดของเชื้อมาลาเรีย
            2. ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ พยายามไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด ไม่ควรสวมเสื้อผ้าสีเข้ม เพราะยุงชอบแสงสลัว หากต้องค้างแรม ควรกางมุ้ง เต็นท์ที่กันยุง หรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง
            3. ปัจจุบันไม่แนะนำให้รับประทานยาเพื่อป้องกันมาลาเรียก่อนเดินทางไปยังแหล่ง ระบาดของโรคมาเลเรีย เนื่องจากประสิทธิผลของการรับประทานยาป้องกันต่ำมาก ส่งผลให้เชื้อมีโอกาสดื้อยาสูง และอาจบดบัง อาการจนทำให้ตรวจวินิจฉัยโรคได้ช้า


            อาการที่ควรไปพบแพทย์
            หลังจากเดินทางเข้าไปในบริเวณที่มีความ เสี่ยง ได้แก่ ป่าทึบ หรือ ชายป่า หรือจังหวัดที่เป็นแหล่งของเชื้อมาเลเรีย ภายในระยะเวลา 7-40 วัน ถ้ามีอาการไข้หนาวสั่น เป็นๆ หายๆ ควรพบแพทย์ทันที เพราะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคมาลาเรีย และเนื่องจากโรคมาลาเรียส่วนใหญ่จะไม่หายเอง ต้องได้รับยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย โดยเฉพาะหากไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนมักจะมีอาการรุนแรงมาก ผู้ติดเชื้อบางรายจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล


            ภาวะแทรกซ้อน
            1. เชื้อมาลาเรียขึ้นสมอง (Cerebral malaria) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ falciparum ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท สับสน เพ้อคลั่ง ชักเกร็งกระตุก ระดับความรู้ตัวน้อยลงจนไม่รู้สึกตัว หมดสติ อาจพูดไม่ได้ อัมพาตครึ่งซีก และบางรายอาจเสียชีวิตได้
            2. เนื่องจากเชื้อมาเลเรียทำให้เม็ดเลือดแดงแตก จนเกิดภาวะโลหิตจาง และเมื่อเม็ดเลือดแดงแตกจะปล่อยสารเกลือแร่ออกมาด้วย ทำให้สมดุลเกลือแร่ในกระแสเลือดผิดปกติ ที่อันตรายคือสารโพแทสเซียมที่สูงขึ้น จะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติได้
            3. เชื้อพลาสโมเดียมสายพันธุ์ p. vivax และ p. ovale มีคุณลักษณะพิเศษคือเมื่อรักษาจนกระทั่งหายจากโรคมาลาเรียแล้ว แม้จะไม่ได้รับเชื้อเข้ามาใหม่ แต่ผู้ป่วยสามารถกลับมามีอาการและตรวจพบเชื้อพลาสโมเดียมได้อีก เพราะเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์นี้สามารถหลบซ่อนอยู่ภายในเซลล์ตับและเจริญเติบโตต่อไป ด้วยเหตุนี้ขณะรับการรักษาจึงตรวจไม่พบเชื้อในกระแสเลือด และเมื่อเวลาผ่านไป เชื้อที่ซ่อนอยู่ที่ตับก็สามารถแพร่สู่กระแสเลือดได้อีก ทำให้มีไข้กลับซ้ำ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าตอนที่ติดเชื้อครั้งแรก


     


     

เอกสารอ้างอิง

      1. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. สธ. ออกประกาศเตือนประชาชนป้องกัน 15 โรค สำคัญฤดูฝน เผยปี 54 พบป่วยเกือบ 7 แสนคน. กระทรวงสาธารณสุข Ministry of Public Health Website. May 20, 2012. Available at: http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=47030. Accessed June 4, 2012.
      2. สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2548. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกในระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาล ทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
      3. สมบุญ เสนาะเสียง, อัญชนา วากัส, ฐิติพงษ์ ยิ่งยง. 2552. สถานการณ์โรคไข้สมองอักเสบและไข้สมองอักเสบ เจ อี ประเทศไทย ปี พ.ศ.2552. กลุ่มระบาดวิทยาโรคติดต่อ สำนักระบาดวิทยา.
      4. กองมาลาเรีย กรมควบคุมโรคติดต่อ และคณะ. 2545. แนวทางเวชปฏิบัติโรคมาลาเรีย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ.
      5. สมทัศน์ มะลิกุล. 2543. มาลาเรียวิทยา. กองมาลาเรีย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.
      6. Kasper DL, Braunwald E, Fauci AS, et al, eds. Infectiuos Diseases. Harrison's Principles of Internal Medicine. 17th ed. New York: McGraw-Hill; 2008.


     

ที่มา : www.bangkokhealth.com



Home >>
Flemex-AC OD

Recent Post
รวมวิธีรักษาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

รู้จัก 5 รูปแบบการไอ เพื่อบรรเทาอาการอย่างถูกจุด

“สารสกัดจากดอกคาโมมายล์” หนึ่งในส่วนผสมที่ควรมองหาใน เม้าท์ สเปรย์

ไม่ใช่แค่ละลายเสมหะ..NAC กับการใช้รักษาอาการหรือโรคอื่น

เจาะลึกถึงสาเหตุที่นำไปสู่อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

3 ยาที่ต้องมีติดบ้านเพื่อรับมือ “ไข้หวัดแดด”

“เฟลมโมมายล์ เม้าท์ สเปรย์” (Flemomile Mouth Spray) สเปรย์สำหรับช่องปาก สูตรปราศจากน้ำตาลและแอลกอฮอล์

"กาวชันผึ้ง" (Propolis) สารมหัศจรรย์จากธรรมชาติช่วยแอนตี้ไวรัส

สุขใจปีใหม่ ดูแลกันให้นาน ๆ

9 วิธีปรับปรุงชีวิตคู่ให้ดีขึ้น

คาโมมายล์ สมุนไพรที่ช่วยให้ผ่อนคลายและบำรุงสุขภาพ

สุขภาพดี ท้าหนาว

RSV ไวรัสตัวร้าย ปล่อยไว้อันตรายถึงแก่ชีวิต

เฟลมโมมายล์ เม้าท์ สเปรย์ เอาใจคนรุ่นใหม่ ใส่ใจสุขภาพ

คัดจมูกอย่าปล่อยไว้นาน

ชิว ๆ เตรียมตัวรับความหนาวที่มาพร้อมกับความสุขใจ

ภูมิแพ้… ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

Review: FLEMOMILE เม้าท์ สเปรย์ ตัวช่วยในวันที่เจ็บคอ (ไม่พูดเยอะ)

หนาวแล้ว ปลายฝน รับต้นหนาว

สุขใจ อิ่มบุญ ในช่วงกินเจ

ชีวิตคิดบวก สู้โควิด

เที่ยวแบบ New Normal เทรนด์ใหม่ยุคโควิด-19

ไอจนเจ็บหน้าอก

“สุขดี” ที่ใจและกาย

ปรับไลฟ์สไตล์ชีวิตใหม่ รับ New Normal หลังวิกฤตโควิด-19

New normal ในโลกหลัง COVID-19 ที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม

อันตรายจาก “ความชื้น”


ประโยชน์ของสารสกัดจากดอกคาโมมายล์และโพรพอลิส


เทรนด์ธุรกิจแบบ Health Focus ที่มาแรงในวันนี้



« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
Neurotex

Aquamaris




เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อนำเสนอคอนเทนต์และโฆษณาที่ท่านอาจสนใจเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเรา
หากท่านใช้บริการเว็บไซต์ของเราต่อไปโดยไม่ได้ปรับการตั้งค่าใดๆ เราเข้าใจว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์ของเรา
HOMEABOUT USSHARE YOUR STORYNEWSCONTACT
 
  
view