อาการไอ (Cough)
อาการไอเป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ และเป็นกลไกป้องกันที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะ หรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ รวมทั้งเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้บ่อยที่สุด นอกจากนี้ อาการไอยังเป็นทางที่สำคัญในการแพร่กระจายของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
อาการไอ เริ่มจากการที่มีสิ่งเร้า เช่น อากาศเปลี่ยน สารเคมี ไปกระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอ ซึ่งอยู่ตามอวัยวะในทางเดินหายใจ โดยเมื่อถูกกระตุ้นตัวรับจะส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาทไปยังศูนย์ควบคุมการไอ (cough center) ในสมองส่วนท้ายบริเวณเมดุลลา โดยจะมีการสั่งไปยังกล้ามเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ ทำให้เกิดอาการไอ เพื่อกำจัดตัวกระตุ้น
การไอ สามารถแบ่งตามระยะเวลา ได้เป็น 2 ประเภท คือ ไอฉับพลันและไอเรื้อรัง • ไอฉับพลัน คือ มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด โพรงไซนัสอักเสบฉับพลัน คอหรือกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ อาการกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ การที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม หรือสัมผัสกับสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ กลิ่นสเปรย์ แก๊ส มลพิษทางอากาศ • ไอเรื้อรัง คือ มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง รับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงบางชนิดเป็นเวลานาน โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ โรคหืด โรคกรดไหลย้อน การใช้เสียงมากทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ และวัณโรคปอด ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง บางรายอาจมีสาเหตุมากกว่าหนึ่งชนิด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ
ข้อเสียของการไอมีหลายข้อ เช่น การที่ไอมาก ๆ ทำให้เสียบุคลิกภาพ อาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่น รบกวนการนอนหลับ ในผู้สูงอายุอาจทำให้กระดูกอ่อน ซี่โครงหัก ถุงลมหรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตก รวมถึงผลข้างเคียงตามสภาวะผู้ไอในแต่ละราย
สำหรับการรักษาที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุของอาการไอและรักษาตามสาเหตุ ถ้าไอจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัดหรือ หลอดลมอักเสบ และมีอาการไอไม่มาก อาจใช้ยาบรรเทาอาการไอ ยาละลายเสมหะ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อ หาและรักษาตามสาเหตุ ในลำดับต่อไป
มา “สุขใจเพราะเราเลือกดูแลกัน” ด้วยการรู้เท่าทัน “อาการไอ” เมื่อไอให้นึกถึงเฟลมเม็กซ์ และเมื่อรู้สึกระคายเคืองในลำคอให้นึกถึง Flemomile สเปรย์สำหรับช่องปากและลำคอนะคะ
|