ไอเรื้อรัง ระวังปอดพังตั้งแต่ยังไม่แก่ มะเร็งปอด เดิมเชื่อกันว่าเป็นในคนอายุมาก อย่างน้อยต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบโรคนี้ในผู้ที่มีอายุน้อยกว่านั้น เรื่องนี้ทำให้หลาย ๆ คนต้องเฝ้าติดตามอาการของตัวเอง สังเกตจากการไอ อาการไอมีหลายสาเหตุ โดยหากสาเหตุไม่ร้ายแรง อาการไอจะค่อย ๆ หายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน สาเหตุที่พบบ่อย เช่น ไข้หวัด คออักเสบ ไซนัสอักเสบ อย่างไรก็ตาม ในรายที่มีอาการไอเรื้อรัง การพักผ่อน ทานน้ำอุ่น กินยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อในเบื้องต้นไม่หาย อาการไอเรื้อรังนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงได้ ที่สำคัญคือ มะเร็งปอด การไอเป็นกลไกของร่างกายในการป้องกันและกำจัดสิ่งแปลกปลอมในหลอดลม หรือบางกรณีไม่มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา แต่มีการกดทับที่เนื้อปอดหรือหลอดลม เช่น ก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งปอด ร่างกายจะรับรู้ว่ามีบางอย่างมาระคายอยู่ กลไกของร่างกายก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการไอ เพื่อพยายามจะขับออก แต่ขับไม่ออกเป็นผลให้เกิดการไอเรื้อรังขึ้น หากโฟกัสกันที่อาการไอที่อาจเป็นอันตราย จะมีลักษณะดังนี้ ไอติดต่อกันนานเกินกว่า 3 สัปดาห์ และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีไข้ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยแยกโรคระหว่างวัณโรคปอดกับมะเร็งปอด โดยวัณโรคปอดพบมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งอาจเป็นเพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่องทำให้วัณโรคสามารถแพร่กระจายได้มากขึ้น สำหรับมะเร็งปอดจะพบมากในผู้ที่สูบบุหรี่จัด โดยสูบบ่อย ๆ ไอบ่อย ๆ ไอเรื้อรัง ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งปอดสูง 10 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เมื่อก่อนเชื่อว่าผู้ป่วยมะเร็งจะพบในคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบว่า การสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์อย่างมากกับโอกาสที่จะเกิดมะเร็งปอด โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลา ปริมาณ ลักษณะการสูบ โดยสูดเอาควันเข้าไปในปอดเต็มที่ มีความเสี่ยงสูง สำหรับบางคนร่างกายมีความไวต่อสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในบุหรี่มากเป็นพิเศษ ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนทั่วไป เช่น คนสองคนสูบบุหรี่ในปริมาณเท่ากัน ระยะเวลาเท่ากัน แต่คนที่มีความไวต่อสารก่อมะเร็งมากกว่าก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ ในอดีตจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้ โดยเฉพาะสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอด เช่น สารจำพวกแร่ใยหิน ที่ผสมอยู่ในวัสดุก่อสร้าง ก็สามารถทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน
|
Home >> |
ไอเรื้อรัง ระวังปอดพังตั้งแต่ยังไม่แก่ |
|
|