10 เทรนด์สังคมไทย หลังพ้นวิกฤติโควิด-19 การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ก่อให้เกิดผลกระทบในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงวิถีการดำรงชีวิตของคนในสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างมาก คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ การดำเนินชีวิตของคนในสังคม หลังพ้นวิกฤติครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยว่า ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ จัดตั้งขึ้นเนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญเทรนด์ใหม่ๆ และการคาดการณ์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต เพื่อให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาและออกแบบแนวนโยบาย แผนการรับมือเชิงรุก ตลอดจนการพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมถึงผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของคนในอนาคต ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย MQDC ได้หยิบยกประเด็นสำคัญ นำมาวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือ Web of Impact โดยทีมวิจัยของฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ให้เห็นถึงผลกระทบสังคมในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น หลังพ้นภาวะวิกฤติโควิด-19 ซึ่งสามารถสรุปเป็น 10 เทรนด์ที่สังคมไทย ที่ควรจะตั้งรับ ได้แก่ 1. Social Structure โครงสร้างของสังคมใหม่ๆ ที่จะมีการออกกฎหมายที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก เป็นกฎหมายเดียวกันที่ช่วยในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี IOT Infrastructure และระบบต่างๆ ทำให้คนเข้ามาสนใจมากยิ่งขึ้น อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างของสังคมใหม่ก็คือ ผู้คนจะให้ความสำคัญต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่มากยิ่งขึ้น โดยจะยอมให้ข้อมูลส่วนตัว (privacy) เพื่อที่จะปกป้องสุขภาพ และทรัพย์สินของตัวเองและครอบครัวมากยิ่งขึ้น 2. Resilience & Agile by Force แม้ว่าในอนาคตหลังวิกฤติโควิด-19 ความเชื่อมั่นและความเชื่อใจในระดับบุคคลจะลดน้อยลง แต่ความร่วมมือระหว่างองค์กรและอุตสาหกรรมจะมีมากขึ้น ซึ่งภาครัฐจะใช้เวลาปรับตัวมากที่สุดและจะถูกปรับเปลี่ยนมากขึ้น เช่น กฎหมายพื้นฐาน การประชุมอย่างถูกกฎหมายผ่านทางออนไลน์ เป็นต้น ดังนั้น วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นการล้างไพ่ทางเศรษฐกิจในทางบวก คือรัฐและองค์กรธุรกิจสามารถใช้โอกาสนี้ในการจัดการเรียนผ่านออนไลน์ฟรี ให้กับแรงงาน หรือการกำหนดระเบียบการทำงานที่ลดการใช้ทรัพยากรได้มากขึ้น 3. Global Emotional Crisis & Touchless Society วิกฤติทางอารมณ์ของคนเมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากในสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้แบบเดิมๆ นำไปสู่การสูญเสียสมดุลทางความคิดและอารมณ์ อาทิ เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมา จากเดิมมีวิธีการทักทายแบบจับมือหรือกอด แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ทำให้ไม่สามารถทำได้ ทำให้การปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพมีระยะห่างกันออกไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ จะส่งผลในเรื่องของอารมณ์ในแง่ของความใส่ใจ และความห่วงใยในอนาคต อย่างวัยทำงานที่นิยม Co-Working Space ก็อาจจะมีปรับพื้นที่ในรูปแบบ Sharing Space With Boundary หรือ มีการแบ่งแยกพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น และการออกแบบพื้นที่บริการแบบไม่ต้องสัมผัส แต่ใช้ voice recognition หรือ AR แทน 4. Public Space / Indoor Technology with Health Factor จากความไม่เชื่อมั่นและความวิตกกังวลในเรื่องความไม่ปลอดภัยในเวลาที่ต้องออกไปยังพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในด้านนี้ อาทิ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ต้องมีการวางแผนรับมือ และสร้างเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น การวางระบบฆ่าเชื้อสำคัญเหมือนการวางระบบแอร์ น้ำ ไฟ มีการกำหนดมาตรฐานระบบ clean air quality ในอาคาร 5. Prioritizing Space Over Convenience วิถีความคิดของผู้บริโภคในแง่การซื้อที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนไป เพราะที่ผ่านมาทุกอย่างจะรวมตัวกันอยู่ในกลางเมือง โดยยึดเอาแนวเส้นการเดินทางที่ใกล้รถไฟฟ้าเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการทำงานในอนาคต สามารถทำงานที่บ้านได้ จึงอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกที่อยู่อาศัย ไม่จำเป็นต่ออยู่ในเมือง หรือ อาศัยในคอนโดมิเนียมขาดเล็กกลางใจเมืองต่อไป แต่อาจปรับเปลี่ยนเป็นบ้านนอกเมือง แต่มีพื้นที่มากขึ้น มีสวน การปรับเปลี่ยนบ้านพักตากอากาศ มาใช้อาศัยประจำแทน 6. Everything At Home หรือ เศรษฐกิจติดบ้าน เนื่อง จากสถานการณ์โรคระบาด ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป เริ่มเคยชินกับการอาศัยอยู่ในบ้าน ทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ ภายในที่พักอาศัยของตนเอง ส่งผลต่อความต้องการที่พักอาศัยที่อาจจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่สามารถอาศัยในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กได้ แต่ขณะนี้อาจจะไม่เพียงพอ และต้องการมีพื้นที่ที่สามารถทำอะไรได้หลายหลากมากยิ่งขึ้น อย่าง คอนโดมิเนียม ก็ต้องมีพื้นที่สำหรับการทำอาหาร พื้นที่ทำงานและออกกำลังกายได้ในขณะเดียวกัน 7. Proactive Healthcare Platform จากเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้แพลตฟอร์มการดูแลสุขภาพและการป้องกันความเจ็บป่วยนั้นมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โครงสร้างพื้นฐานของเมือง อาคาร บ้านจะต้องมีบริการและแพลตฟอร์มสุขภาพและสุขภาพจิตเป็นบริการพื้นฐาน 8. Last mile & next hour logistic ด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง จะทำให้ระบบการขนส่งระยะสั้นแบบ 1 กิโลเมตร และการจัดส่งแบบรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง จะเป็นที่ต้องการ และความสำคัญมากยิ่งขึ้น 9. Wearable Device - Prioritizing Health & Safety Over Privacy การเติบโตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ ซึ่งผู้บริโภคจะยอมให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อแลกกับความปลอดภัยที่มีมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เจาะลึกถึงข้อมูลมากยิ่งขึ้น สามารถดูได้ว่า ณ วันนี้ สถานที่ที่เราอยู่ ณ ตรงนี้ มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นประเด็นในเรื่องของความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว 10. Super Food & Food Supply Chain Transparency To Personal Food Supply ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะรับประทานอาหารเพื่อความอร่อย และเป็นการเข้าสังคมรูปแบบหนึ่ง แต่หลังจากนี้ ผู้บริโภคจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ต้องการความมั่นใจมากขึ้นว่าสินค้าที่จะนำมาปรุงอาหารต้องมีมาตรฐาน ปลอดภัย และมีความสะอาด รวมถึงผู้บริโภคบางส่วนเองเริ่มมีการทำฟาร์มขนาดเล็กในเมืองมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ก็คือ 10 เทรนด์สังคมในอนาคตที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปหลังพ้นภาวะวิกฤติโควิด-19 ซึ่ง ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ เชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมทุกภาคส่วน ในการเตรียมรับมือและพร้อมที่จะปรับตัวกับ The Next Normal หรือ ความปกติในรูปแบบใหม่ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังพ้นวิกฤติครั้งนี้ ที่มา : thebangkokinsight |
Home >> |
10 เทรนด์สังคมไทย หลังพ้นวิกฤติโควิด-19 |
|
|