"การเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล ยุคที่อินเทอร์เน็ตคือปัจจัยที่ 5"
ในยุคที่เด็กอยู่กับอินเทอร์เน็ตเกือบตลอดเวลา พ่อแม่ยุคนี้ จึงต้องมีทักษะในการเลี้ยงดูลูกที่อยู่กับสื่อ มีการกำหนดกฎกติกาในการใช้งาน ฝึกระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ มอบความรักความอบอุ่นและเวลาคุณภาพที่จะใช้ในการพูดคุย ชี้แนะ และทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยให้ลูกในยามที่เขาท่องโลกออนไลน์
หนังสือ แนวทางการเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล โดยมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ การเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล สรุปความได้ดังนี้
1. ให้ความรักและเวลาคุณภาพ พ่อแม่ควรเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับลูก พูดคุยกับลูกได้ทุกเรื่อง ให้กำลังใจและอภัยเมื่อลูกทำผิด เพื่อสร้างเสริมให้บ้านเป็นสถานที่ปลอดภัยและพึ่งพิงได้เสมอ
2. รับฟังมากกว่าสั่งสอน พ่อแม่ควรใช้คำพูดที่ดีภายในครอบครัว ชื่นชมเมื่อลูกทำได้ดี ให้อภัยและชี้แนะเมื่อลูกทำผิดพลาด ควรใส่ใจรับฟังปัญหาหรือเรื่องราวของลูกให้จบก่อนที่จะเริ่มสอนสั่ง เพราะบางครั้งลูกแค่ต้องการคนเข้าใจ เห็นใจ ปลอบโยน การอบรมชี้แนะควรกระทำในเวลาที่เด็กรับฟังและเปิดใจรับเท่านั้น
3. ช่วยลูกสร้างทักษะชีวิต ปล่อยให้ลูกแก้ไขปัญหาเองบ้าง ไม่เลี้ยงลูกแบบตามใจ พ่อแม่ทำให้ทุกสิ่งอย่าง ควรให้ลูกเรียนรู้ ลองผิดลองถูก ได้แก้ไขปัญหาเองบ้าง สำเร็จบ้างผิดหวังบ้าง เพื่อฝึกความมานะอดทน ต่อสู้กับปัญหา ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ก้าวเล็ก ๆ ที่สำเร็จของลูก จะนำพาสู่ก้าวที่ใหญ่และมั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต
4. ฝึกระเบียบวินัย การควบคุมตนเอง และความรับผิดชอบ ตั้งแต่ลูกยังเล็ก มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบงานบ้านให้ลูกทำตามช่วงวัย กำหนดกติกาการใช้สื่อออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น 1-2 ชั่วโมง ต่อวัน อะไรที่ทำได้และทำไม่ได้บนโลกออนไลน์ ชี้แจงเรื่องภัยออนไลน์และการป้องกัน เมื่อเกิดเหตุแล้วจะต้องทำอย่างไรบ้าง พ่อแม่ต้องบังคับใช้กฎกติกาอย่างเข้มแข็งแต่อ่อนโยน และเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้สื่อ
5. ลดโอกาสในการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และเกม ในบ้านจะต้องมีพื้นที่ปลอดมือถือ หรือกำหนดช่วงเวลาปลอดจากเทคโนโลยี เพื่อให้กลับมาอยู่กับสังคมคนรอบข้างจริง ๆ ลดการคิดคำนึงถึงสื่อโซเชียล เช่น ห้ามใช้สื่อเทคโนโลยีบนโต๊ะกินข้าว ในห้องนอน หรือเวลาไปเยี่ยมญาติ ให้ลูกมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตและเกม เป็นต้น
6. สอนลูกให้มีทักษะรู้เท่าทันสื่อ และความฉลาดทางดิจิทัล สอนให้ลูกตั้งคำถามกับข่าวสารที่ได้รับ ตรวจสอบก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์ออกไป รักษาตัวตนและชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ เพราะทุกสิ่งที่ทำล้วนมีหลักฐานให้ติดตามได้ สอนให้รู้จักรับมือกับภัยออนไลน์และการกลั่นแล้งรังแก ไม่ละเมิดผู้อื่น ไม่ทำผิดกฎหมาย และเห็นอกเห็นใจเพื่อนผู้ประสบภัยออนไลน์
7. มีทางออกเชิงสร้างสรรค์อื่น ๆ เพื่อให้ลูกค้นพบความถนัดของตนเองที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ พ่อแม่ควรมีกิจกรรมทางเลือกอื่น ๆ ให้ลูกด้วย ยังมี ดนตรี กีฬา ศิลปะ สิ่งประดิษฐ์ หรืออื่น ๆ ที่ลูกอาจสนใจมากกว่าการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน อัจฉริยภาพของคนเรามีหลากหลายด้านไม่เหมือนกันในเด็กแต่ละคน พ่อแม่ควรสร้างเสริมให้ลูกนับถือตนเอง ค้นพบตัวเอง เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
เด็กจำเป็นต้องได้รับความรัก ความเอาใจใส่ และต้องมีปฏิสัมพันธ์จากพ่อแม่ จึงจะเติบโตอย่างมีความสุขและมีพัฒนาการที่สมวัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้โลกดิจิทัลไม่สามารถทำแทนได้