หลัก “3อ 2ส 1ฟ 1น” เพื่อวัยทำงานสุขภาพดีห่างไกลโรคอ้วน
วัยทำงานเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากกลุ่มวัยทำงานดูแลสุขภาพไม่ดีจนทำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ย่อมส่งผลกระทบทั้งกับตัวบุคคลเองรวมถึงสังคมในวงกว้าง การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับวัยทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
วัยทำงานส่วนใหญ่ใช้เวลาในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากไม่มีการดูแลสุขภาพของตนเองที่เหมาะสมจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ซึ่งจากการสำรวจประชาชนไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่าคนวัยทำงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติเพียง ร้อยละ 36.43 มีภาวะอ้วน ร้อยละ 37.5 พบโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 24.7 โรคเบาหวาน ร้อยละ 8.9 ภาวะไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 16.4
นอกจากนี้ จากการสำรวจระดับกิจกรรมทางกายในประชากรไทย โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย ในปี 2563 พบว่า ประชาชนวัยทำงาน อายุ 18-59 ปี มีกิจกรรมทางกายเพียงพอลดลงเหลือร้อยละ 54.7 จากปี 2562 ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 74.6 และข้อมูลจากการสำรวจด้านโภชนาการ ปี 2564 พบว่า คนไทยอายุ 18-59 ปี เป็นคนอ้วนระดับ 1 คือมีค่า BMI 25-29.9 ร้อยละ 20.31 และอ้วนระดับ 2 คือมีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 ร้อยละ 6.22 ผู้ที่เป็นโรคอ้วนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและเสี่ยงเสียชีวิตเมื่อป่วยเป็นโรคโควิด-19
หลัก “3อ 2ส 1ฟ 1น” เพื่อวัยทำงานสุขภาพดีห่างไกลโรคอ้วน
อ ที่ 1 คือ อาหาร เพื่อสุขภาพดีห่างไกลโรคอ้วนควรกินอาหารให้ตรงเวลามีความหลากหลายครบ 5 หมู่ ในสัดส่วน 2:1:1 คือ ผักหลากสี 2 ส่วน เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ส่วน ข้าว แป้ง 1 ส่วน ลดการกินอาหารประเภท หวาน มัน เค็ม ชา กาแฟ ขนมเบเกอรี่ ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน
อ ที่ 2 คือ ออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพดีห่างไกลโรคอ้วนควรออกกำลังกายเป็นประจำ โดยออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เช่น เต้นแอโรบิก คาดิโอ กระโดดเชือก การย่ำเท้าอยู่กับที่ การเดินวันละ 10,000 ก้าว เป็นต้น
อ ที่ 3 อารมณ์ดี เพื่อสุขภาพดีห่างไกลโรคอ้วนควรหากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลายจากความเครียด เช่น สวดมนต์ นั่งสมาธิ เพราะความเครียดอาจทำให้บางคนหาทางออกด้วยการกิน จนนำไปสู่ภาวะอ้วนได้
ส ที่ 1 คือ สูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพดีห่างไกลโรคอ้วนควรลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ส่งผลต่อกระบวนการเผาผลาญคอเลสเตอรอลและทำให้เส้นเลือดอุดตันได้เร็วขึ้น เพราะร่างกายไม่สามารถส่งคอเลสเตอรอลไปยังตับเพื่อกำจัดได้
ส ที่ 2 คือ สุรา เพื่อสุขภาพดีห่างไกลโรคอ้วนควรลด ละ เลิกการดื่มเหล้า เนื่องจากงานวิจัยส่วนใหญ่พบว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์จะมีน้ำหนักเกินและมีไขมันในช่องท้องมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
1ฟ คือ ฟัน แปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้ง นานครั้งละ 2 นาที ไม่กินหรือไม่ดื่มหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง นอกจากช่วยให้มีสุขภาพช่องปากที่ดีแล้ว อาจมีประโยชน์ต่อการลดน้ำหนัก กล่าวคือ เมื่อเราแปรงฟันหลังกินข้าวบ่อยๆ สมองก็อาจจดจำว่ากลิ่นและรสชาติของยาสีฟันที่หลงเหลือในปากแปลว่าอิ่ม ดังนั้น หลังแปรงฟันแล้วจะไม่อยากกินอะไรเลย นอกจากนี้สารSLS ในยาสีฟันยังไปรบกวนการทำงานของต่อมรับรสหวานในช่องปาก ทำให้รู้สึกว่าอาหารอร่อยน้อยลง หากกินหลังแปรงฟัน
1น คือ นอนหลับ การนอนหลับไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบทำให้ฮอร์โมนในร่างกายมีความผิดปกติ ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ฮอร์โมนเกรลินที่กระตุ้นให้หิวเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ฮอร์โมนเลปติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความอิ่มลดลง
ไม่อยากโรครุมเร้าจากภาวะอ้วนก็ต้องใส่ใจและดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี อะไรที่ทำแล้วช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้อย่ารอช้าที่จะทำ