ลด ละ เลิกบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเองและคนรอบข้าง
สถานการณ์การสูบบุหรี่ในปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ พบจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.68 พันล้านคน อัตราการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง สิ่งที่ควรทำ คือ การลด ละ เลิกบุหรี่
บุหรี่ ยังคงเป็นพิษภัยทำลายสุขภาพของประชากรทั่วโลก เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบและบุคคลใกล้เคียง โดยแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการสูบบุหรี่ สูงถึง 6 ล้านคน และคาดประมาณแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 ล้านคนในปี พ.ศ. 2573 ส่วนในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 50,000 คน จากโรคร้ายแรงที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมปอดโป่งพอง และวัณโรค เป็นต้น
ควันบุหรี่เป็นอันตรายไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สูบหรือไม่ได้สูบบุหรี่ก็ตาม เพราะในควันบุหรี่ประกอบด้วยสารอันตรายหลายชนิด ซึ่งเมื่อสูดดมควันบุหรี่เป็นประจำอาจเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงได้ โดยควันบุหรี่เกิดได้จากสองแหล่ง คือ ควันบุหรี่ที่ผู้สูบพ่นออกมา และควันที่ลอยจากปลายมวนบุหรี่ ถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นผู้สูบโดยตรง แต่ควันบุหรี่รอบตัวจะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อ ตา จมูก คอ ส่งผลให้เกิดการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบ ภูมิแพ้ อาจทำให้อาการกำเริบได้
บุหรี่ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ ทำให้หัวใจเต้นเร็วและความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในควันบุหรี่มีสารพิษหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและหัวใจ ได้แก่ นิโคติน คาร์บอนไดออกไซด์ ทาร์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และไฮโดรเจนไซยาไนต์ ในส่วนของสารเสพติดที่สำคัญในบุหรี่ คือ นิโคติน ซึ่งมีผลต่อสมองทำให้เกิดการเสพติดที่เรียกว่า โรคสมองติดยา และสารในบุหรี่อีกหลายชนิดก่อให้เกิดโรคมากกว่า 25 โรค เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น
ผู้สูบบุหรี่แต่ละรายจะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคจากบุหรี่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นกับระยะเวลาที่สูบ ปริมาณที่สูบ ลักษณะพันธุกรรม การมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆร่วมด้วย สำหรับคนที่ไม่สูบบุหรี่หากได้รับควันเข้าไป จะทำให้เกิดโทษเหมือนกับคนที่สูบบุหรี่ได้ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทั้งผู้ชายและผู้หญิง ดังนั้น การไม่สูบบุหรี่จะเป็นการลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจที่สำคัญที่สุด และในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว การเลิกสูบบุหรี่จะเป็นการลดอัตราการเกิดโรคซ้ำและลดอันตรายได้
ในผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่ หากติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า จะเกิดปอดอักเสบอย่างรุนแรงและเสียชีวิตได้ การสูบบุหรี่เป็นการทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้กระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคที่หลุดเข้ามาที่ปอดแย่ลง เซลล์ปอดเกิดการอักเสบสะสมเรื้อรัง ทำให้สิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคเข้าสู่ปอดได้ง่ายขึ้น เมื่อมีการติดเชื้อปอดของผู้สูบบุหรี่จะเกิดการอักเสบที่รุนแรงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นการช่วยลดการอักเสบและยับยั้งการถูกทำลายของเซลล์ปอด ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น
ทั้งนี้ หากต้องการเลิกบุหรี่ สามารถปรึกษาศูนย์บริการเลิกบุหรี่ โทร.1600 หรือเข้ารับบริการได้ที่คลินิกให้บริการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422