ผู้มีภาวะหัวใจล้มเหลว กินอย่างไรให้ปลอดภัยและเหมาะสม
ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายหรือรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ ไม่อยากเสี่ยงอาการกำเริบนอกจากต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจคือ อาหารการกิน
ปัจจัยที่อาจทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลวแย่ลง ได้แก่
1. สาเหตุจากหัวใจ เช่น หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ, หัวใจเต้นช้าเกินไป, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือตาย, โรคลิ้นหัวใจ
2. สาเหตุอื่น ๆ เช่น รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ, รับประทานยาที่ทำให้น้ำและเกลือคั่ง หรือยาที่กดการทำงานของหัวใจ, ได้รับยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อหัวใจ, ภาวะติดเชื้อ, การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินควร, การทำงานของไตผิดปกติ, ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด, ความดันโลหิตสูง, ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ, ภาวะโลหิตจาง, รับประทานอาหารเค็มเกินไป
จะเห็นได้ว่า การรับประทานอาหารเค็มเกินไปเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลวแย่ลง ดังนั้น อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้มีภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ อาหารแปรรูปต่าง ๆ จำพวกอาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารรสเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผัก/ ผลไม้ดอง เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ที่มีผงฟูเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร เครื่องดื่มเกลือแร่ เป็นต้น
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงข้างต้นนั้นเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูง โดยโซเดียม คือแร่ธาตุอย่างหนึ่ง มีหน้าที่หลักในการรักษาสมดุลของน้ำและอิเลคโตรไลท์ (electrolyte) ในร่างกาย ควบคุมระดับความดันโลหิต ร่างกายมีการขับน้ำและแร่ธาตุ รวมถึงโซเดียมได้ 3 ทาง ได้แก่ ปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ ซึ่งใน 1 วัน ความต้องการสูงสุดของโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับและไม่ทำให้เกิดอันตรายอยู่ที่ 2,400 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา
โซเดียมมักอยู่ในเกลือ และสารให้ความเค็มต่าง ๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ นอกจากนี้โซเดียมอาจจะอยู่ในอาหารที่ไม่มีรสชาติเค็มอีกด้วย เช่น เบเกอรี่เเละขนมอบ ที่มีส่วนประกอบ อาทิเช่น ผงฟู เป็นสารที่ทำให้ขนมปังขึ้นฟู โซเดียมอัลจิเนต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อเจลให้ความข้นหนืด ผงกันบูด เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา เป็นต้น
การรับประทานอาหารรสเค็มมากไปต่อเนื่องเป็นประจำ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจทำงาน หนักขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหลอดเลือดในสมองแตกหรืออัมพาตได้ ดังนั้นการจำกัด และควบคุมปริมาณเกลือโซเดียม สามารถช่วยควบคุมและป้องกันความดันโลหิตสูง รวมทั้งป้องกันการเกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว ลดภาวะบวมน้ำ ในผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคไตได้
สำหรับอาหารที่ควรเลือกรับประทานและส่งผลดีต่อผู้มีภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ อาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด หรือประกอบอาหารรับประทานเองซึ่งจะสามารถควบคุมปริมาณเครื่องปรุงได้ อาหารที่มีปริมาณโปแตสเซียมสูง เช่น ผักใบเขียวและผลไม้ นอกจากนี้ ควรลดความถี่ของการบริโภคอาหารที่ต้องมีเครื่องปรุงน้ำจิ้ม และลดปริมาณน้ำจิ้ม
การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอก็ยังเป็นวิธีพื้นฐานที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีได้ รวมถึงการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำเช่นกัน