เคล็ดลับใช้ส้วมสาธารณะให้ปลอดภัย ห่างไกลเชื้อโรค
เพราะการขับถ่ายเป็นเรื่องที่ยากในการกลั้น ไม่ว่าจะเป็นการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ โดยเฉพาะผู้มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อหูรูด แม้จะไม่สะดวกใจในการใช้ส้วมสาธารณะแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีทางเลือกก็ต้องใช้งาน เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้สิ่งสำคัญคือจะใช้ส้วมสาธารณะอย่างไรให้ปลอดภัย ห่างไกลเชื้อโรค
ส้วมสาธารณะ หรือห้องน้ำสาธารณะ เป็นสถานที่ที่มีผู้คนมาใช้บริการเป็นจำนวนมากต่อวัน เช่น ในห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ โรงพยาบาล ปั๊มน้ำมัน ส้วมสาธารณะจึงเป็นแหล่งรวมและแพร่กระจายของเชื้อโรค แม้บางที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาความสะอาดอยู่ก็ตาม แต่เพราะมีคนมาใช้บริการมากหน้าหลายตา ทำให้ผู้มาใช้บริการทีหลังไม่มีโอกาสรู้เลยว่า คนที่มาใช้บริการก่อนหน้าเรานี้มีเชื้อโรคอะไรอยู่ในร่างกายบ้าง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อโรคจากส้วมสาธารณะได้ โดยไม่รู้ตัว
เชื้อโรคที่พบในส้วมสาธารณะ มี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน เริม เป็นต้น และกลุ่มเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ เป็นต้น เชื้อโรค เหล่านี้แฝงตัวอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในห้องส้วม เช่น ชักโครก อ่างล้างมือ แม้กระทั่งลูกบิดประตู แต่โอกาสที่จะติดเชื้อจนทำให้เกิดโรคหรือเป็นอันตรายได้ ขึ้นอยู่กับการสัมผัสเชื้อในปริมาณที่มากพอหรือไม่ โดยเชื้อโรคจะแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีแผล หรือสัมผัสแล้วไปหยิบอาหารใส่ปาก ก็จะได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
เทคนิคการใช้ส้วมให้ปลอดภัย ห่างไกลเชื้อโรค มีวิธีปฏิบัติง่าย ๆ คือ
1. ทุกครั้งที่เข้าส้วมสาธารณะ ควรให้ร่างกายสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ในห้องส้วมน้อยที่สุด
2. ควรทำความสะอาดที่นั่งด้วยกระดาษทิชชู หรือกระดาษรองนั่งปูบนฝารองนั่งก่อน และระวังอย่าให้แผ่นรองเปียกน้ำ เพราะเชื้อโรคอาจแทรกซึมมากับน้ำได้
3. ไม่เหยียบบนโถส้วม (กรณีเป็นส้วมนั่งราบ) มีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ใส่รองเท้าขึ้นไปนั่งบนฝารองนั่ง เพราะคิดว่าจะทำให้ไม่สัมผัสกับเชื้อโรค แต่จริง ๆ แล้ว อาจทำให้น้ำในโถกระเด็นขึ้นมา ซึ่งอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนจากเชื้อโรคได้มากกว่าการนั่งธรรมดา
4. การทำความสะอาดร่างกาย หลังการขับถ่าย ไม่ควรใช้น้ำที่ขังอยู่ในภาชนะ เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่สะสมอยู่ แต่ควรรองจากก๊อกโดยตรงหรือใช้กระดาษทิชชู เพราะน้ำในภาชนะนั้นอาจไม่สะอาด หากเป็นสายฉีดชำระ ควรฉีดน้ำให้ไหลทิ้งประมาณ 1 นาที เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ปะปนบริเวณรอบ ๆ หัวฉีด เมื่อใช้ส้วมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องราดน้ำทำความสะอาดให้เรียบร้อย ก่อนจากไป
5. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังการขับถ่าย โดยเริ่มต้นล้างมือ
7 ขั้นตอนด้วยน้ำสะอาด จากนั้นเช็ดมือให้แห้งด้วยกระดาษเช็ดมือ หากเป็นผ้าเช็ดมือไม่ควรใช้ซ้ำ ๆ กัน
6. การใช้ส้วมสาธารณะ นอกจากคำนึงถึงสุขอนามัยของตนเองแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความสะอาดสำหรับผู้ที่จะมาใช้ต่ออีกด้วย การใช้ส้วมอย่างถูกต้อง และระมัดระวังจะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้
ย้ำอีกครั้งหากจำเป็นต้องใช้ส้วมสาธารณะ ต้องใส่ใจเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะผู้หญิงมักจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่าผู้ชาย จึงจำเป็นต้องรู้จักดูแลและป้องกันตนเอง