ทำอย่างไร เมื่อพี่น้องอิจฉา หรือชอบทะเลาะกัน สาเหตุแห่งความริษยา การทะเลาะเบาะแว้ง และการแก้ไข 1. ลูกคนแรกมักเกิดความรู้สึกหวั่นไหวไม่มั่นคงในทันทีที่แม่คลอดน้องและพามาที่บ้านในวันแรก ยิ่งเห็นกับตาว่าพ่อแม่ดูจะเอาใจใส่เจ้าน้องคนใหม่มากมายเป็นพิเศษ (ทั้งที่เป็นการดูแลเด็กอ่อนตามปกติ) ลูกคนแรกมักจะเอาแต่คิดวนเวียนอยู่เสมอว่า น้องคนใหม่จะมาแย่งความรักจากเขาไป ดังนั้น นับตั้งแต่ที่แน่ใจแล้วว่ากำลังจะมีบุตรอีกคน ก็ควรจะเตรียมหาวิธีถนอมจิตใจลูกคนโตไว้แต่เนิ่น ๆ นะครับ เพียงความมั่นใจว่า…ถึงอย่างไรเราก็รักลูกเท่าเทียมกันอยู่แล้วนั้นอาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะในความรู้สึกของเด็ก ๆ นั้น หวั่นไหวและจริงจังมากกว่าที่เราคาดคิดยิ่งนัก การป้องกันก็คือ 1.1 บอกข่าวการมีน้องใหม่ให้เขาล่วงรู้แต่เนิ่น ๆ บอกเขาว่าแม่กำลังจะมีน้องเพื่อให้เป็นเพื่อนของหนู แล้วให้เขาได้สัมผัสท้องของคุณบ่อย ๆ เพื่อรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของน้อง 1.2 พาลูกไปด้วยกันในยามที่คุณแม่ต้องไปตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาลเพื่อให้เขาได้พบได้คุยกับคุณหมอ และให้ได้เห็นเด็กทารกเพิ่งคลอดในห้องพักเด็ก 1.3 ชวนเขาไปช็อปปิ้ง เพื่อเขามีโอกาสเลือกซื้อของใช้ที่จำเป็นสำหรับน้อง เช่น เปลเด็ก ผ้าอ้อม ขวดนม...ฯลฯ 1.4 ให้ลูกได้รู้จักการเล่นกับเด็กอื่น ๆ บ้าง เช่น ลูก ๆ ของเพื่อนบ้าน หรือพาเขาไปเล่นกับหลาน ๆ ในวัยไล่เลี่ยกันที่บ้านญาติ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เขารู้จักปรับตัวและค่อย ๆ สร้างความผูกพันกับน้องใหม่ที่กำลังจะลืมตาดูโลก... 2. เมื่อน้องคลอดแล้ว ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยในทารกแรกเกิด มักทำให้คุณพ่อคุณแม่หันมาทุ่มเทเอาใจใส่เจ้าตัวเล็ก กระทั่งอาจละเลยความรู้สึกของเจ้าคนโตโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งทำให้ลูกขุ่นเคืองและน้อยอกน้อยใจ จนอาจเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเกิดอคติต่อน้องของตนและเกิดความริษยา จนทะเลาะรังแกกันอย่างไม่สิ้นสุด คุณพ่อคุณแม่จึงควรหันกลับไปเอาใจใส่ลูกคนโตให้มากขึ้น แล้วค่อย ๆ ตะล่อมให้เขามีส่วนร่วมในการดูแลน้อง เช่น เวลาที่คุณแม่ทำอาหารหรืออาบน้ำให้น้อง ก็ชวนเขามาอยู่ใกล้ ๆ เพื่อคอยช่วยเหลือคุณแม่ด้วย แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ควรเป็นไปในเชิงบังคับนะครับ มิฉะนั้น จะสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีแก่เขาตั้งแต่เริ่มต้น จึงควรค่อย ๆ กล่อมเกลาชี้ชวน เพราะจริง ๆ แล้วเขาเองก็แอบเห่อน้องใหม่ไม่แพ้คุณพ่อคุณแม่หรอกนะครับ เอาละ...แม้เราจะพอยิ้มออก ที่เจ้าลูกคนโตเริ่มคุ้นเคยเอาใจใส่น้องน้อยอย่างน่าปลื้มใจ แต่ก็ใช่ว่าตลอดระยะเวลาที่ทั้งคู่เติบโตมาด้วยกันจะไม่มีการขัดใจหรือทะเลาะกันเสียเลย เพราะธรรมชาติความเป็นเด็กของพวกเขาที่ยังเจ้าอารมณ์และยังขาดทักษะการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจ (และทำใจ) ไม่ต้องซีเรียสจนเกินไป 2.1 หากพวกเขามีการอีลุ๊บตุ๊บตั๊บลงมือลงไม้กันบ้าง เราก็เพียงแต่จับพวกเขาแยกกันก่อน แล้วบอกว่า “พ่อแม่ไม่ชอบที่ลูก ๆ ทะเลาะกันหรือตีกัน ถ้าลูกโกรธกันก็ต้องเลิกเล่นชั่วคราว ต่างคนต่างอยู่ รอให้อารมณ์ดีกันทั้งคู่แล้วค่อยมาเล่นกันใหม่” 2.2 หากต่างคนก็ต่างเข้ามาฟ้องและโทษกันไปมาอุตลุด เราก็ควรรับฟังไว้อย่างสงบโดยไม่ต้องดุด่าโวยวาย และไม่ต้องตัดสินถูกผิดชี้โทษคนใดคนหนึ่ง แต่ควรพูดให้เป็นกลาง ๆ เข้าไว้ โดยเน้นที่การแบ่งกัน การให้อภัยและการปรองดองต่อกัน 2.3 หากลูกของเรามีวัยไล่เลี่ยกัน ถ้าวันหนึ่งเจ้าคนโตถึงกับหัวฟัดหัวเหวี่ยงเพราะโกรธน้องอย่างสุด ๆ ตั้งท่าจะตีน้องซะให้ได้ เราควรจะให้เขาได้ระบายความโกรธในทางที่ปลอดภัย เช่น ให้เขาหันมาตีตุ๊กตานุ่ม ๆ แทน หากลูกโตอีกหน่อย การหันมาตีกลอง หรือต่อยเตะกระสอบทรายจนกว่าจะเหนื่อยก็จะช่วยให้ความโกรธเบาบางลง 3. เชื่อหรือไม่ว่า...ปัญหาลูก ๆ ริษยา ชิงชัง และทะเลาะกันอย่างไม่จบสิ้นนั้น มักเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่เอาจริงเอาจัง (ในเรื่องที่ลูกชอบทะเลาะกัน) จนเกินไป หนำซ้ำยังมีการลงโทษลูกอย่างรุนแรง ทั้งเฆี่ยนตีและด่าทอ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการกระตุ้นพฤติกรรมก้าวร้าวให้เกิดขึ้นอย่างซ้ำ ๆ และเร้าให้พวกเขาเกิดอารมณ์รุนแรงขึ้นทั้งโกรธทั้งน้อยอกน้อยใจ ทั้งโทษกันไป ๆ มา ๆ แถมยังอาจถึงกับผูกใจเจ็บคิดแก้แค้นอีกฝาย 3.1 หาเกม กิจกรรม หรือกีฬาที่จะได้ทำร่วมกัน แต่ต้องไม่ออกไปในเชิงแข่งขันแต่เน้นที่ส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจกัน ฟันฝ่าอุปสรรคด้วยกัน เช่น กีฬาตระกร้อลอดบ่วง (หรือกีฬาอื่น ๆ ที่พี่น้องอยู่ในทีมเดียวกัน) การเล่นวิ่งกระต่าย 3 ขา วิ่งกระสอบ…ฯลฯ ที่หากได้รับชัยชนะก็แสดงความยินดี และภูมิใจร่วมกัน แต่หากว่าแพ้ก็จะได้เห็นอกเห็นใจและให้กำลังใจกัน 3.2 เมื่อพี่น้องทะเลาะกันตีกัน เราอาจเรียกลูกเข้ามาหาเราทีละคน แล้วให้เขาระบายความโกรธ ความไม่พอใจได้อย่างเต็มที่ โดยเรารับฟังลูกอย่างสงบ แล้วรอให้เขาได้ระบายจนจบ (หรือเหนื่อย) เราจึงอาจสรุปว่า หนูโกรธน้อง (พี่) แม่เข้าใจ คนเราโกรธกันได้ แต่แม่ไม่อยากให้หนูด่าว่าน้อง (พี่) อย่างรุนแรงหรือหยาบคาย หากหนูต้องการให้น้อง (พี่) ทำหรือไม่ให้ทำอะไรก็ควรพูดกับเขาดี ๆ แต่ถ้าหนูรู้สึกโกรธมาก ๆ ก็สามารถมาคุยมาระบายกับคุณแม่ได้เสมอ... คุณพ่อคุณแม่ กรุณาอย่าลืมนะครับ โปรดรับฟังลูกด้วยความเข้าใจและสงบ แล้วพูดกับลูกไปในทางสร้างสรรค์ โดยให้มีความเมตตา - แบ่งปัน และปรองดองสมัครสมานสามัคคีซึ่งกันและกันนะครับ
|
Home >> |
ทำอย่างไร เมื่อพี่น้องอิจฉา หรือชอบทะเลาะกัน |
|
|